เอไอเอส Vision 2017 พร้อมนำบริการดิจิทัลรุกคนไทยทั้งประเทศ

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่าวิสัยทัศน์ของเอไอเอสในปี 2017 จะเน้นการมุ่งสู่ Digital For Thai หนุนประเทศไทย 4.0 เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมนี้ จำนวนผู้ใช้งานเบอร์มือถือได้เกินจากจำนวนประชากรที่มีอยู่ในประเทศแล้ว สิ่งที่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายจะทำได้คือการรักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่ และการสร้างรายได้เพิ่มจากฐานลูกค้าเหล่านั้น

การประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz และการลงทุนทางด้านเครือข่ายอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันเครือข่าย AIS 4G กลายเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุด ครอบคลุมแล้วถึงกว่า 98% ของพื้นที่ประชากร รวมไปถึงยังได้ทำการพัฒนาเครือข่าย 4.5G ครั้งแรกในโลก ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ณ ขณะนี้เบอร์ 1 ของวงการโทรคมนาคมของเมืองไทยมีความพร้อมมากแล้วที่จะก้าวไปสู่ธุรกิจที่นอกเหนือจากการให้บริการด้านมือถือ

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมไทยได้มีการปรับตัวครั้งใหญ่และเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ดังนั้นจะเห็นว่าทุกอุตสาหกรรมรวมถึงภาครัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับเอไอเอสเองที่ได้มีการ Transform ทุกส่วนขององค์กรไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย ดิจิทัลเซอร์วิส และบุคลากรเพื่อให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

เอไอเอสจะมุ่งเน้นการเป็น Digital Life Service Provider ที่คาดว่าจะช่วยให้รายได้รวมทั้งหมดของเอไอเอสในปีนี้น่าจะโตประมาณ 4-5% โดยในปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโต 1.6% ส่วนการแข่งขันของตลาดภาพรวมคาดว่าจะมีความรุนแรงเหมือนเดิม แต่ละค่ายจะมีแนวทางในการทำตลาดและตอบสนองความต้องการของลูกค้าในมุมของตัวเองในแนวทางที่ต่างกันออกไป

เอไอเอส
Digital Life Service Provider นั้น เอไอเอสจะเน้นใน 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.การยกระดับเครือข่ายไปอีกขั้น สู่ Next G Network (Next Generation) ที่จะทำการพัฒนาเครือข่ายทั้ง Mobile Super Wifi และ Fix Broadband ให้ก้าวสู่เครือข่าย Digital ที่รองรับการใช้งานระดับกิกะบิต (Gigabit Network) เพื่อรองรับการก้าวสู่ 5G นอกจากนี้จะเป็นเครือข่ายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พัฒนาสู่ Narrowband IoT มาตรฐานระดับโลก ที่จะรองรับการใช้งานอุปกรณ์ IoT ต่างๆ ซึ่งเริ่มทยอยเข้ามาในเมืองไทยกันมากขึ้นแล้ว

2.การนำบริการ Digital Service ที่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรแบบ Exclusive อาทิ FOX, HBO, NBA พร้อม Chromecast มารองรับกับความบันเทิงชาวไทย นอกจากนี้ยังได้จับมือไมโครซอฟท์ นำ Business Cloud เต็มรูปแบบยกระดับธุรกิจไทยด้วยมาตรฐานระดับโลก

3.การนำแนวคิด AIS Digital For Thais นำเทคโนโลยีดิจิทัลไปสนับสนุนความแข็งแกร่ง สร้างโอกาสใหม่ๆ แก่กลุ่มรากฐานหลักของประเทศ ประกอบด้วย เกษตรกรรมและผู้ประกอบการ OTOP สาธารณสุข การศึกษาและ Digital Start Up

นอกจากนี้การดำเนินงานในปีนี้เอไอเอส ยังพร้อมที่จะร่วมทำงานกับภาครัฐในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปสนับสนุน เสริมความแข็งแรง สร้างโอกาสทางการเข้าถึง และความเท่าเทียมกันของประชาชนที่มีอาชีพอยู่ในรากฐานหลักของประเทศ ผ่านแนวคิด “AIS Digital For Thais” ที่เชื่อว่าจะไปช่วยเพิ่มศักยภาพและสร้างการเติบโตสู่ประเทศไทย 4.0 ได้ตามนโยบายรัฐบาล

นายสมชัยกล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาลูกค้าเอไอเอส มียอดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านมือถือสูงถึง 24 ล้านราย ในจำนวนนี้ 12 ล้านราย ใช้งานผ่านมือถือ 4G และใช้อินเตอร์เน็ตวันละ 6 ชั่วโมง โดยพบว่ามีการชมวีดีโอถึง 10 ล้านคลิปต่อวัน รวมถึงอัพโหลดภาพวันละ 1.8 ล้านภาพ

ส่วนปี 2560 นั้นคาดว่าจะการใช้งานอินเตอร์เน็ตจะเติบโตถึง 300% โดยตลาดที่เติบโตมากที่สุดคือ Fix Broadband และกลุ่มการใช้งานของอุปกรณ์ IOT ที่เข้ามาในตลาดอย่างชัดเจน อาทิ Wearable, Machine2Machine ซึ่งถือว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจและการใช้ชีวิตของคนไทยไปอีกขั้น

ทั้งนี้คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะทำให้อุตสาหกรรมหลักแต่ละด้านเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการขยายตัวเข้าถึงทุกพื้นที่ของ Digital Infrastructure 3 ส่วนหลัก คือ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สมาร์ตโฟนที่เติบโตมากกว่า 70 ล้านเครื่อง และ IOT มากกว่า 20 ล้านรูปแบบ

เอไอเอส

ยกระดับเครือข่ายใหม่ไปสู่บริการดิจิทัลที่หลากหลายกว่า

นายฮุย เวง ชอง กรรมการผู้อำนวยการ เอไอเอส กล่าวว่าในปีนี้เครือข่ายของเอไอเอสทั้งหมดจะก้าวไปสู่ “เครือข่ายดิจิทัล ที่รองรับการใช้งานระดับกิกะบิท (Gigabit Network) ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด Multipath TCP ทำให้เพิ่มความเร็วได้ถึง 10 เท่าของเครือข่าย LTE และ เร็วขึ้นอีก 4 เท่าของเครือข่าย Tri Band LTE Advance

สำหรับเครือข่าย AIS Wifi ก็จะก้าวสู่ Gigabit Super Wifi เช่นกัน (ด้วยมาตรฐาน 802.11 ac Wave 2) ซึ่งจะทำให้เครือข่าย AIS Fibre พร้อมที่จะรองรับการใช้งานได้ถึง 10 กิกะบิทด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้จากพื้นฐานดังกล่าวจะทำให้เอไอเอสมีความพร้อมในการต่อยอดสู่เทคโนโลยี IoT ที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาบริการสาธารณะต่างๆ เพื่อก้าวสู่ Smart City อย่างเต็มรูปแบบ วันนี้เครือข่ายเอไอเอสจึงเป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปิดตัว เครือข่าย Narrowband IoT มาตรฐานระดับโลก ที่จะรองรับการใช้งานอุปกรณ์ IoT อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนาย ปรัธนา ลีลพนัง รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด เอไอเอส  กล่าวว่า การพัฒนาโครงข่ายให้มีขีดความสามารถรองรับการใช้งานระดับกิกะบิทนั้น จะทำให้เอไอเอสสามารถตอบสนองกับความต้องการผู้ใช้บริการในยุคปัจจุบันด้วยคลังวีดีโอ คอนเทนต์ จากพาร์ทเนอร์ตัวจริง ทั้งในและต่างประเทศ ผ่าน AIS Play และกล่อง AIS Play Box โดยพร้อมเปิดตัวเป็นครั้งแรกเพื่อคนไทยกับ ช่อง FOX Networks HBO NBA รวมไปถึง Chromecast ที่จะทำให้โลกแห่งการชมวีดีโอคอนเทนต์ได้ทุกที่

ความร่วมมือกับ HBO ดังกล่าวจะทำให้เอไอเอสเข้าถึงฐานลูกค้าในส่วนของ Pay TV ได้มากขึ้น โดยเอไอเอสยังจะได้ทำการพัฒนาคอนเทนต์ให้เป็นภาษาไทยเพื่อให้สามารถกระจายลูกค้าได้กว้างขึ้น เพราะซีรีย์ต่างประเทศจะมีความน่าสนใจในขณะที่การให้บริการแบบเดิมนั้นจะเป็นภาษาต่างประเทศ ทำให้ขาดความน่าสนในไปบ้าง นอกจากนี้การขยายฐานลูกค้าไฟเบอร์จะช่วยให้การให้บริการร่วมกับ HBO มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการให้บริการควบคู่ไปกับแอพพลิเคชัน AIS Play ด้วยกล่อง AIS Play-box รวมไปถึงการทำผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Google Chromecast จะยิ่งทำให้การดู HBO มีความสนใจเข้าไปอีก

ปัจจุบันเอไอเอส ไฟเบอร์ ยังขยายโครงข่ายผ่านไปยังชุมชนแล้วมากกว่า 5 ล้านครัวเรือน โดยมีปริมาณลูกค้าใช้งาน ณ สิ้นปี 59 อยู่ที่ 3 แสนราย และเพิ่มขีดความสามารถในการติดตั้งได้ใกล้เคียงกับผู้ให้บริการรายเดิม แม้จะเปิดให้บริการมาเพียง 2 ปี โดยคาดว่าในปีนี้จะมีปริมาณลูกค้าใช้บริการเอไอเอสทั้งสิ้น 6.4 แสนราย
นอกจากนี้ในส่วนของภาคธุรกิจนั้น เอไอเอส ได้ร่วมมือกับไมโครซอฟต์เพื่อให้บริการ AIS Business CLOUD ด้วยมาตรฐานระดับโลกสู่ประเทศไทย เต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกของไทย ตอบสนององค์กรทุกขนาด ทุกอุตสาหกรรม

เอไอเอส

Digital For Thais บริการที่เอไอเอสจะให้คนไทยทุกคน

นายสมชัยกล่าวว่า นอกเหนือไปจากบริการที่จะให้สู่ลูกค้าเอไอเอสแล้ว แผนงานในปี 2017 ที่เอไอเอสวางวิสัยทัศน์ไว้ก็คือ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับรากฐานหลักของประเทศ ภายใต้แนวคิด Digital For Thais เพื่อร่วมกับภาครัฐในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยใน 4 ด้านหลักคือ

1.ด้านเกษตรกรรม และผู้ประกอบการ OTOP : เอไอเอส ร่วมกับทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้ความร่วมมือกันในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์กับกลุ่มเป้าหมายวิสาหกิจชุมชน,OTOPและ SMEs โดยได้รับการสนับสนุนในด้านฐานข้อมูลผู้ประกอบการOTOP ที่เชื่อมโยงผ่านระบบ Channel Management System ที่พัฒนาขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เชื่อมต่อกับ E-Marketplace ของเอไอเอส

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ยกระดับการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพของเกษตรกรและผู้ประกอบการ OTOP ผ่านแอปพลิเคชัน “ฟาร์มสุข” เพื่อเพิ่มรายได้ด้วยการสร้างช่องทางในการซื้อ-ขายสินค้า และลดรายจ่าย ด้วยข้อมูลจากคลังความรู้ทางด้านภูมิปัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำการเกษตรจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าของสินค้า ด้วยข้อมูลการเพาะปลูกจากอุปกรณ์ IoT ความรู้ด้านบรรจุภัณฑ์ และการสร้างความแตกต่างให้สินค้า พร้อมทั้งยังช่วยให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบาย และมั่นใจในสินค้าที่ได้รับอีกด้วย

2.ด้านสาธารณสุขเอไอเอส ได้ทำการยกระดับคุณภาพการให้บริการสาธารณสุข และสุขภาพของคนไทย โดยเน้นความทั่วถึง มีคุณภาพ และประสิทธิภาพของการให้บริการสาธารณสุข โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค มากกว่าเมื่อป่วยแล้วจึงมารักษา จึงจัดทำแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์เป็น แอพฯที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เป็นเครื่องมือสื่อสารสำหรับการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขชุมชนเชิงรุกของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่นั้นๆ อีกทั้งยังมุ่งพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงแพทย์ และการดูแลสุขภาพได้อย่างสะดวกและง่ายยิ่งขึ้น

3.ด้านการศึกษา ที่ผ่านมาเอไอเอสได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำโครงการเพื่อสังคมด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ในโครงการ“สานรัก คนเก่งหัวใจแกร่ง” ซึ่งเป็นโครงการที่เอไอเอสจัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ด้วยการมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนขาดโอกาสที่มีความประพฤติดี โดยการมอบทุนการศึกษาจนจบในระดับปริญญาตรี รวมถึงมอบอุปกรณ์การกีฬาให้โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 17

ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย “Thailand 4.0” เอไอเอสจึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปยกระดับคุณภาพชีวิตด้านการศึกษา โดยจัดทำโครงการสานรัก สานความรู้ ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสการเข้าถึงแหล่งข้อมูล สาระ ความรู้ให้แก่เยาวชนไทยทุกคน ด้วยการติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และ AIS PLAYBOX รุ่นพิเศษที่มาพร้อมกับ content ที่เกี่ยวกับการศึกษา สาระความรู้และสารคดี

อาทิ DLTV National Geographic, Edutainment VOD รวมถึง Documentary VOD ของชีวิตสัตว์ป่าและธรรมชาติที่หลากหลาย ฯลฯ ให้กับโรงเรียนของน้องๆคนเก่งหัวใจแกร่ง และโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ จำนวนกว่า 200 โรงเรียนเพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ในการเรียนรู้แก่เยาวชนไทย ให้ได้ประโยชน์จากองค์ความรู้ ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งบนโลก รวมถึงความร่วมมือกับบริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ในการนำเนื้อหาความรู้ที่เป็นประโยชน์กับคุณครูเข้ามาพัฒนาองค์ความรู้ในการสอนหนังสือให้กับนักเรียนด้วย

เอไอเอส
4.สถานที่สำหรับ Start Up และผู้ประกอบการยุคดิจิทัล : AIS D.C. Designed For Creation เอไอเอสเล็งเห็นความสำคัญของการต่อยอดองค์ความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ จึงเปิดสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของกลุ่มครีเอเตอร์ให้มีพื้นที่สร้างสรรค์และแบ่งปันแรงบันดาลใจ ร่วมกับ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ Thailand Creative & Design Center (TCDC) เพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้และเพิ่มขีดความสามารถของคนไทย ให้นำความสามารถนั้นไปต่อยอดในการพัฒนาประเทศ

โดยภายใน AIS D.C. ประกอบด้วย บริการมากมายที่ตอบโจทย์กลุ่มครีเอเตอร์รุ่นใหม่ รวมถึง AIS Playground ที่แรกในประเทศไทยที่ให้ StartUp ได้ทดสอบระบบเชื่อมต่อ API บน Product & Service ของตนเอง กับ AIS Digital Platform ที่รองรับการทำ Digital Business ที่หลากหลาย พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากเอไอเอสที่พร้อมให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด