เรียนรู้ให้เร็ว ปรับตัวให้ทัน พิชิตสตาร์ทอัพ

ธุรกิจสตาร์ทอัพยังคงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่รัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศใช้สร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเล็งเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สินค้าและบริหารเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมหนัก มาสู่อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก


เพราะพื้นฐานของสตาร์ทอัพมักจะเน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจ หรือเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วไปต้องการใช้แล้วพัฒนาขึ้นมาเป็นแอพพลิเคชันขึ้นมา ซึ่งมักจะมียอดผู้ใช้เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจขยายตัวได้อย่างทวีคูณตามมา

การสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพจึงแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป ตรงที่การขยายตัวอย่างรวดเร็วซึ่งต้องอาศัยเงินลงทุนสูงในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งธุรกิจที่วางแผนมาเป็นอย่างดี และมีสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้จริง ก็มักจะได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็วจนสร้างโอกาสในการหารายได้ต่อไปในอนาคต

สตาร์ทอัพที่ล้มเหลวมักจะทำตรงกันข้ามคือเริ่มจากธุรกิจก่อนว่าต้องใช้เงินเท่าไร โดยมักเอาแนวคิดของคนอื่นมาดัดแปลงแล้วหานักลงทุนมาอัดฉีดเงินเข้าไป โดยที่ยังไม่มีรูปแบบในการหารายได้ที่ชัดเจนนัก เพราะไอเดียเริ่มต้นไม่แน่นพอ

สตาร์ทอัพมือใหม่มักพยายามเฟ้นหาสูตรสำเร็จซึ่งไม่มีอยู่จริง เนื่องจากสตาร์ทอัพแต่ละรายล้วนมีจุดเริ่มต้นทางความคิดไม่เหมือนกัน แม้ว่าบางคนจะมีความคิดริเริ่มที่ดี แต่รายละเอียดระหว่างลงมือทำก็มีตัวแปรอีกเยอะมากจนอาจทำให้นวัตกรรมที่ดีต้องล้มเหลว

สูตรสำเร็จของธุรกิจสตาร์ทอัพอาจไม่มีอยู่จริง แต่แนวทางเบื้องต้นที่ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพพอจะนับหนึ่งได้อย่างมั่นคงมีอยู่ 8 ข้อ ที่อาจพอเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพบ้านเรา เริ่มจากข้อแรกคือการบริหารจัดการที่ต้องเหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง

  • ข้อแรกเพราะสตาร์ทอัพส่วนมากคิดว่าไอเดียเป็นสิ่งเดียวที่ชี้ขาดว่าธุรกิจจะสำเร็จหรือล้มเหลว ซึ่งเป็นจริงเพียงครึ่งเดียวเพราะหากธุรกิจทำไปโดยไม่รู้ว่ามีพนักงานเท่าไร มีทุนสำรองพอไหม รายได้จะเข้ามากี่บาท รายจ่ายมีอะไรบ้าง ฯลฯ ธุรกิจนั้นก็คงเดินไปอย่างไม่มั่นคงนัก

สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมักบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด และหาทางแปลงไอเดียของตัวเองให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ หรือเป็นโปรโตไทป์ให้รวดเร็วที่สุดเพื่อนำเสนอให้กับนักลงทุน การทำงานโดยไม่วางแผนจะทำให้ไอเดียดี ๆ ที่มีกลายเป็นความฝันที่ไม่อาจเป็นจริงได้

  • ข้อสองคือ การบริหารการเงินที่เป็นระบบ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ที่มักเริ่มต้นโดยคนในด้านไอทีที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านการเงินสักเท่าไรนัก
  • ข้อสาม ความสามารถในการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ของเราให้กับนักลงทุน ซึ่งกว่าที่จะมาเป็นโปรโตไทป์ต้นแบบได้นั้น เราจำเป็นต้องรู้จักกระบวนการทำงานทั้งระบบอย่างลึกซึ้ง อย่านำเสนอเพียงแค่ผิวเผินหรือเน้นแต่จุดเด่นของตัวเอง เพราะภาพรวมของระบบทั้งหมดอย่างละเอียดก็เป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กันเลย
  • ข้อสี่ ต้องกล้าได้กล้าเสีย ธุรกิจที่เราก่อตั้งมากับมือนั้นเมื่อถึงวันหนึ่งต้องขยายตัวเติบโต จะยึดติดกับเจ้าของเดิมคนเดียวตลอดไปไม่ได้ การมีนักลงทุนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของจึงเป็นวิถีทางปกติ และเราต้องยอมรับมันให้ได้ ซึ่งเราเองก็ต้องเก่งพอที่จะหาเวทีใหม่ ๆ ให้กับตัวเองอย่างต่อเนื่อง

  • ข้อห้า ต้องทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ไม่หลบเลี่ยงภาษี เพื่อความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ
  • ข้อหก การทำธุรกิจทุกขั้นตอนต้องมีเอกสารรองรับ ข้อตกลงทุกอย่างต้องมีสัญญาประกอบ เพื่อความถูกต้องและความเป็นมืออาชีพ
  • ข้อเจ็ด ต้องมีวินัยทางการเงิน รู้จักจัดการเงินที่มีอยู่อย่างเหมาะสม
  • ข้อแปด ต้องแยกเรื่องส่วนตัวออกจากหน้าที่การงานให้ได้ อย่าให้ชีวิตส่วนตัวระหว่างบ้านกับที่ทำงานปะปนกันจนแยกไม่ได้ อย่าคิดประหยัดใช้บ้านเป็นที่ทำงานจนโต๊ะทำงานกับเตียงนอนอยู่ที่เดียวกัน เพราะเราจะแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรคืองาน อะไรคือเรื่องส่วนตัว

พื้นฐานความคิดที่ดีจะเอื้อให้ธุรกิจสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จได้ทั้งในแง่การขยายฐานลูกค้า และแหล่งเงินทุนจากนักลงทุนทั่วโลก ขอเพียงเรียนรู้ให้เร็ว ปรับตัวให้ทัน และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอตามแนวคิดข้างต้นนี้เท่านั้น

ผู้เขียน : แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ