เปิดวิสัยทัศน์ ผอ.NEA คนใหม่ ชูกลยุทธ์เสริมแกร่งความรู้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย

เปิดวิสัยทัศน์ ผอ.NEA คนใหม่ ชูกลยุทธ์เสริมแกร่งความรู้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย

พรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการคนล่าสุดของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(New Economy Academy : NEA) ภายใต้สังกัดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยแผนกลยุทธ์ 4 ด้าน หนุนพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้มีองค์ความรู้ในการทำธุรกิจที่ทันสมัย เข้าใจความต้องการของกลุ่มลูกค้า เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคนในปี 2561

พรวิช ศิลาอ่อน

พรวิช เปิดเผยว่า “จากแนวคิดการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับอัตราการเติบโตของธุรกิจ SMEs ในประเทศไทยที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในปี 2560 นี้มีจำนวนบริษัท SMEs อยู่ที่ 3,004,679 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 238,713 ราย คิดเป็นเปอร์เซ็นคือ 8.63% แต่ในกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ยังขาดความรู้ในการดำเนินธุรกิจหลายด้านเช่น การบริหารจัดการการเงิน, การขาดความเข้าใจผู้บริโภค,การเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน, การเปิดตลาดในต่างประเทศ เป็นต้น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจึงจัดตั้ง ‘สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ New Economy Academy หรือ NEA ขึ้นเพื่อมอบองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยในทุกภาคส่วนธุรกิจ โดยเฉพาะ จุดแข็งเรื่องความรู้ด้านการค้าในต่างประเทศ”

 

รูปแบบการทำงานของสถาบัน

เป็นการจัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยทุกประเภทธุรกิจที่สนใจอยากพัฒนาศักยภาพ โดยแบ่งการจัดอบรม 3 รูปแบบ

1. Face-to-face : หลักสูตรการอบรมแบบที่ผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้จากวิทยากรได้สดๆ พร้อมทำ Workshop ในห้องปฏิบัติการ ผู้ประกอบการสามารถซักถามข้อสงสัยจากวิทยากรได้แบบ Real Time

2. E-Learning : หลักสูตรการอบรมแบบออนไลน์ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สะดวกมาเข้าร่วมหลักสูตรในคลาสสด

3. Vitual Classrooms : ระบบห้องเรียนเสมือนจริงที่ผู้ประกอบการสื่อสารกับวิทยากรและเพื่อนร่วมคลาสได้ผ่านอินเตอร์เน็ต โดยโครงการนำร่องแรกที่จะเปิดสอนในลักษณะนี้คือเรื่องการทำ Video Marketing

“จริงอยู่ที่ปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนจัดหลักสูตรอบรมผู้ประกอบการในลักษณะเดียวกัน แต่ความแตกต่างของ NEA คือการมี Knowledge Base เกี่ยวกับการตลาดระหว่างประเทศจากกรมการค้าระหว่างประเทศที่มีสำนักงานพาณิชย์กว่า 58 แห่งทั่วโลกตั้งอยู่ในจุดการค้าสำคัญ รวมถึงการมีพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจจากหลายหน่วยงานผลัดเปลี่ยนมาให้ความรู้คำแนะนำจากประสบการณ์จริง ทุกหลักสูตรจึงมีความน่าเชื่อถือและและมีสถานที่ตั้งสถาบันที่ทันสมัยอยู่กลางกรุงเทพมหานครบนถนนรัชดา โดยในปีแรกนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วกว่า 10,000 ราย” นายพรวิชกล่าว

 

แผนกลยุทธ์ 4 ด้าน ส่งเสริม SMEs ไทย

 

“เป้าหมายของ NEA คือการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความรู้เป็นเลิศในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างรายได้อย่างมั่งคั่งพร้อมเพิ่มความมีส่วนร่วมของ SMEs ต่อการกระตุ้น GDP ของประเทศ จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามกลยุทธ์ ดังนี้”

กลยุทธ์ที่ 1 : มีพัฒนาหลักสูตรของสถาบันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมกับความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs ทุกขนาด ทุกภาคธุรกิจ และตอบโจทย์สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

กลยุทธ์ที่ 2 :การจัดโครงการสัมมนาอบรมผู้ประกอบการ SMEs ที่สอดคล้องกับเทรนด์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ตอนนี้หลักสูตรของ NEA เน้นการส่งเสริมอีคอมเมิร์ซมากขึ้น และให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ จากเทคโนโลยีและเทรนด์ในยุคดิจิทัล

กลยุทธ์ที่ 3 : การสร้างพันธมิตรในทุกด้านทั้งการเงิน การศึกษา และเทคโนโลยีเพื่อร่วมมือพัฒนาผู้ประกอบการให้นำความรู้ไปต่อยอดในการดำเนินธุรกิจได้ ในขั้นต่อไปสถาบันจะขยายหลักสูตรการอบรม สู่ประเทศในอาเซียนโดยเริ่มที่กลุ่มประเทศ CLMV โดยจะจัดคอร์สฝึกอบรมพร้อมผู้ประกอบการไทยเพื่อสร้างพันธมิตรที่ดีทางการค้าและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีระหว่างผู้เข้าอบรม

 

ความท้าทายในการพัฒนา SMEs ไทย

 

“ในยุคปัจจุบันเป็นยุคที่คนตัวเล็กอยากเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง ทำให้มีธุรกิจ SMEs เกิดขึ้นมาก นับเป็นความท้าทายของ NEA ที่จะจัดหลักสูตรให้เข้าถึงผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหมด อีกเรื่องคือการทำความเข้าใจเทรนด์ตลาดและความคิดของกลุ่ม SMEs ในแต่ละกลุ่มว่ามีความต้องการพัฒนาความรู้แบบใด ในส่วนนี้เราจะต้องทำการวิเคราะห์เทรนด์ของการฝึกอบรมด้านการค้าระหว่างประเทศที่ทันสมัยที่สุดรวมทั้งใช้เทคโนโลยี “การวิเคราะห์ข้อมูล (Data analysis)” มาช่วยประมวลผลข้อมูลผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอบรมว่าทำธุรกิจอะไรและมีความสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ เพื่อนำไปวิจัยออกแบบหลักสูตรให้สามารถพัฒนาศักยภาพ SMEs ไทยสู่การเป็น Smart SMEs อย่างแท้จริง” พรวิชกล่าวสรุป