“Speak Easy” โดย เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน, กันตาร์ และ มายด์แชร์

เจาะเทรนด์โลก “เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูด” ง่าย รวดเร็ว รู้ใจ

เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูด คือ จุดเปลี่ยนในยุคดิจิทัล ที่กำลังถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการที่จะมีวิธีการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และผลการวิจัยทั่วโลกโดยเอเยนซีในเครือดับบลิวพีพี ได้แก่ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน, กันตาร์ และมายด์แชร์ ยังพบว่าผู้บริโภคในโลกอันเร่งรีบของประเทศเศรษฐกิจในเอเชีย กำลังรับบทเป็นทัพหน้าในการเปิดรับเทคโนโลยีนี้

จากทฤษฎีที่ว่า “เสียงพูด ให้อารมณ์มากกว่า การแตะ หรือ การพิมพ์” เริ่มเป็นความจริงที่จับต้องได้ จากรายงาน “Speak Easy” ซึ่งเป็นผลสำรวจผู้คนกว่า 6,780 คนในสหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, เยอรมัน, สเปน, ไทย, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, จีน และ สิงคโปร์ พบว่า ครึ่งหนึ่งของประชากรจะทำการค้นหาข้อมูลผ่านการสั่งงานด้วยเสียงในปีค.ศ. 2020 และผู้ใช้สมาร์ทโฟนร้อยละ 47 ใช้เทคโนโลยีเสียงพูดอย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน ที่น่าสนใจคือ Ovum ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัยเทคโนโลยี ประเมินว่าภายในปี 2021 จะมีอุปกรณ์ที่เปิดใช้งานและมีผู้ช่วยดิจิทัลติดตั้งไว้จำนวนมากกว่า 7,500 ล้านเครื่อง ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรโลกเสียอีก

“Speak Easy” เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูด โดย เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน, กันตาร์ และ มายด์แชร์

นางสาวอาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันตาร์ อินไซต์ ประเทศไทย จำกัด (กลาง) กล่าวว่า “เสียงเป็นสิ่งที่มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุดในการสื่อสาร เมื่อมีเทคโนโลยีเสียงพูดเข้ามา ความเป็นธรรมชาติของการสื่อสารจึงเป็นมุมมองที่น่าสนใจมากขึ้น และในอนาคตผู้คนจะเริ่มมีความสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับเทคโนโลยีเสียงพูดนี้มากขึ้น รวมถึงต้องการให้ผู้ช่วยเสียงรู้จักและรู้ใจตนเองซึ่งเป็นผู้ใช้ได้มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องคอยบอกหรือสั่งการตลอด ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้ผู้ช่วยเสียงเก็บเรื่องต่างๆ เป็นความลับ เนื่องจากต้องการความมั่นใจว่าข้อมูลส่วนตัวจะไม่ถูกเปิดเผยออกไป”

นางสาวปรัชวัน เกตวัลห์ Director of Planning บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย (ขวา) กล่าวว่า “เทคโนโลยีเสียงพูดในเมืองไทยยังมีไม่มากนักและไม่เป็นที่นิยมมากเท่าเมืองนอก แต่ประเด็นที่น่าสนใจและน่าจับตามองอย่างมาก คือ คนไทยพร้อมเปิดรับและมีมุมมองที่ดีต่อเรื่องนี้ รวมถึงยังสามารถจินตนาการว่าเทคโนโลยีนี้จะใช้งานได้สนุกและมีประสิทธิภาพในการช่วยบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ในชีวิตให้สะดวกสบายขึ้นได้อย่างไรบ้าง ทุกวันนี้ การสื่อสารของแบรนด์กับผู้คนนั้นไม่ได้มีเพียงสัมผัสที่จับต้องได้ แม้กระทั่งเสียงก็สามารถทำให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับแบรนด์หรือกับตัวตนของเสียงนั้น เหมือนใช้สัญชาตญาณในการสื่อสาร และสิ่งนี้สามารถโต้ตอบกับพวกเขาได้อย่างดีและรวดเร็ว ดังนั้น ประสบการณ์การใช้งานที่มีเทคโนโลยีเสียงพูดเข้ามาเกี่ยวข้องจึงเป็นที่จดจำและมีความพิเศษมากขึ้นจากเดิม”

นางสาวหรรษา วงศ์สิริพิทักษ์ SEA Director of Digital บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย (ซ้าย) กล่าวว่า “เรามองเห็นโอกาสครั้งใหญ่ที่แบรนด์สามารถจะนำเทคโนโลยีเสียงพูดมาปรับใช้ เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแบรนด์ โดยการคิดค้นและสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เป็น Digital Transformation แต่ควรเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวตนของแบรนด์  อาจเริ่มต้นจากส่วนเล็กๆ แล้วค่อยๆ พัฒนาให้ใหญ่ขึ้น อีกทั้ง ขณะนี้ยังไม่มีแบรนด์ใดเริ่มนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับเสียงมาใช้มากนัก จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีมากหากมีแบรนด์ใดริเริ่มก่อนเป็นแบรนด์แรกๆ ซึ่งเรามั่นใจว่าเรื่องของเทคโนโลยีเสียงพูดจะเป็นเทรนด์แห่งอนาคตที่ยังต่อยอดไปได้อีกไกล สามารถสร้างประโยชน์ให้กับแบรนด์ได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน และยังเข้าถึงคนได้จริงๆ”