พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ทายาทความฮา ในวันที่บิซิเนสโมเดลเปลี่ยน

เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักความฮาสามัญประจำบ้านอย่างการ์ตูนขายหัวเราะแน่นอน และช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารของ พิมพ์พิชา อุตสาหจิต หรือ นิว ที่ภาพลักษณ์ของขายหัวเราะเปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ ๆ

ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยที่เราจะมีโอกาสมาบุกบ้านขายหัวเราะและพูดคุยกับทายาท บ.ก. วิติ๊ด ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ขายหัวเราะ และพิสูจน์ให้เห็นว่า บันลือกรุ๊ป ไม่ได้มีแค่ขายหัวเราะ และขายหัวเราะไม่ได้อยู่แค่ในกระดาษอีกต่อไป

พิมพิชา อุตสาหจิต

บนห้องประชุมของ บริษัทบันลือกรุ๊ป พิมพ์พิชาเริ่มต้นแนะนำตัวให้เรารู้จักว่า ที่บ้านของเธอมีค่านิยมทำงานหนัก ตั้งใจทำงาน ขยัน อดทน จึงจะสำเร็จ มาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ทำให้เธอเติบโตมาในออฟฟิศ คลุกคลีอยู่กับขายหัวเราะตั้งแต่จำความได้

“นิวคิดอยู่แล้วว่าถ้าอยากเข้ามาช่วยธุรกิจก็ต้องมีมุมมองสองด้าน นิวรู้แล้วว่าจะผลิตคอนเทนต์ที่ดียังไง แต่ไม่รู้ว่าจะขายมันยังไง จึงไปเรียนต่อสายธุรกิจ และรู้สึกว่านั่นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะสามารถบูรณาการความรู้จากนิเทศและบริหารธุรกิจมาช่วยตรงนี้ได้ครอบคลุมมาก”

ย้อนไปเมื่อครั้งเข้ามาบริหารงานแรก ๆ พิมพ์พิชาเองก็ยอมรับว่าตัวเธอค่อนข้างกดดัน เพราะบ.ก. วิติ๊ดผู้เป็นพ่อได้สร้างมาตราฐานของขายหัวเราะไว้ได้ดีมาก แถมตัวบ.ก. วิติ๊ดเองยังกลายเป็นไอคอน ที่ทุกคนจดจำ จนได้รับฉายาว่าราชาการ์ตูนไทย ซึ่งพิมพ์พิชาเองก็ถูกปลูกฝังเสมอว่าการเข้ามาในฐานะทายาทเจ้าของกิจการไม่ได้ทำให้เธอมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น แต่มันหมายความว่าเธอต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าคนอื่น ซึ่งพิมพ์พิชาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเธอทำได้

พิมพิชา อุตสาหจิต

“นิวไม่ได้อยากเป็นเหมือนคุณพ่อ เราต่างมีทางของตัวเองที่จะเติบโตไปคนละแบบ นิวคงเป็น บ.ก. วิติ๊ด 2 ไม่ได้ นิวก็จะไปในสายบริหาร สายธุรกิจ สายต่อยอด ที่เป็นทางของนิวเอง แต่ก็ไม่ทิ้งสิ่งที่คุณพ่อสอน เพราะสิ่งที่คุณพ่อมีแต่นิวไม่มีคือความเก๋าในวงการ ประสบการณ์และมุมมองที่เฉียบขาด นิวก็เสนอสิ่งใหม่ ๆ ที่ธุรกิจเรายังไม่มี ขึ้นอยู่กับว่าเราจะหามุมที่จะต่อยอดได้ไหม”

ก่อนหน้านี้ใคร ๆ ก็คิดว่าขายหัวเราะขายแค่หนังสือการ์ตูน แต่ปัจจุบันคงต้องคิดใหม่ เพราะวันนี้บันลือกรุ๊ปได้กลายเป็นนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ครบวงจร รองรับทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน แอนิเมชัน พ็อกเก็ตบุ๊ก นิตยสาร สำนักพิมพ์ รวมทั้งวิดีโอคอนเทนต์ที่ปล่อยออกมากี่คลิปก็สร้างความฮือฮาได้ทุกครั้ง

“เรื่องการใช้ชีวิตคนเป็นเหตุผลที่เราเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม คนอ่านอยู่ที่ไหน เราต้องอยู่ที่นั่นด้วย เป็นเหตุผลที่เรามีทั้งตัวไลน์ ออฟฟิเชียลแอ็กเคานต์ เพจเฟซบุ๊ก และตัวอีบุ๊ก และในอนาคตก็จะมีโปรเจ็กต์อื่น ๆ ในเครือข่ายดิจิทัลเข้ามาเพิ่ม เราไม่สามารถปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โลกและผู้อ่านของเราได้ สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือตรวจสอบ ปรับตัว และทำทุกอย่างให้ดีที่สุดในสถานการณ์ที่เราทำได้ อย่างที่บอกว่าจริง ๆ มันไม่มีสูตรสำเร็จ เราไม่สามารถคอนโทรลอะไรได้หลาย ๆ อย่าง สิ่งที่เราทำได้คือเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง”

พิมพิชา อุตสาหจิต

“ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำการตลาด แต่เน้นขายโพรดักต์ ซึ่งปัจจุบันนอกจากขายคอนเทนต์แล้ว เราขายเซอร์วิส และมาเน้นเรื่องการวางกลยุทธ์คอนเทนต์ต่าง ๆ นิวคิดว่ามันต้องพัฒนาควบคู่ไปทั้งสองทาง คุณภาพต้องดีขึ้น และมีอะไรใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับคนยุคใหม่ ๆ ซึ่งเราวางตำแหน่งขายหัวเราะในฐานะของลีดเดอร์ด้าน Humour Business”

จากอดีตที่แคร์เฉพาะผู้อ่าน แต่สำหรับพิมพ์พิชาได้วางทางเดินใหม่ให้ขายหัวเราะที่เดินไปข้างหน้าพร้อมกันทั้งผู้อ่านและในแง่ของธุรกิจ เห็นได้จากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขายหัวเราะมีการจัดอีเวนต์ และโปรเจ็กต์ขึ้นหลายโปรเจ็กต์ ซึ่งนอกจากจะสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อ่านแล้ว ยังพาโอกาสทางธุรกิจมาสู่ขายหัวเราะด้วย

“ความสำเร็จหลาย ๆ อย่างในวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากโปรเจ็กต์เดียว มันเกิดจากการสะสมมา โอกาสการเกิดบิซิเนสต่าง ๆ มันเกิดจากการที่พาร์ตเนอร์ของเราเห็น จากหลาย ๆ งาน แล้วติดต่อเข้ามาเองเพราะเค้ารู้ว่าเราทำได้ การที่เราได้รับผลตอบรับที่ดีจากหลายโปรเจ็กต์ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทุกอย่างที่มันออกมาดี มันผ่านกระบวนการคิดมาหมดแล้ว”

พิมพิชา อุตสาหจิต

จากอดีตที่นักเขียนทำงานเป็น One Man Show พิมพ์พิชาก็ช่วยให้นักเขียนเหล่านี้ทำงานง่ายขึ้นด้วยการตั้งกอง Humour Creative ที่ช่วยปรับแก็ก ทำรีเสิร์ชว่าควรล้อสถานการณ์อะไรให้ยุคสมัย เป็นการนำมาระบบการทำงานแบบเป็นทีมเข้ามาใช้ ซึ่งระบบแบบช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นและยั่งยืน

แม้จะเข้ามาบริหารได้ไม่นาน แต่พิมพ์พิชาสามารถพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ถึงเธอจะไม่ใช่บ.ก. วิติ๊ด 2 แต่เธอก็สามารถนำพาบันลือกรุ๊ปให้เติบโตได้อย่างไม่หยุดยั้ง

พิมพิชา อุตสาหจิต