ทศวรรษใหม่อาเซียน แหล่งทุนการค้าโลก

ฮิโรชิ โอนิชิ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อิเซตัน มิทซึโคชิ กรุ๊ป

คอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า “Japan Senses” ของห้างสรรพสินค้ารายใหญ่จากญี่ปุ่น “อิเซตัน” นัยหนึ่งคือแผนปรับตัวของห้างรายใหญ่จากญี่ปุ่น โดยมีคิวเปิดตัวในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาในมาเลเซีย

ซึ่งข่าวการเปิดตัว “Japan Senses” ของอิเซตัน ได้รับเปิดเผยจาก ฮิโรชิ โอนิชิ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อิเซตัน มิทซึโคชิ กรุ๊ป ที่เข้าร่วมงานสัมมนา The Nikkei Asia 300 Global Business Forum ในกรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้

 

โอนิชิให้มุมมองว่า ที่ผ่านมาเอเชียคืออดีตดาวรุ่งที่สดใส แต่ปัจจุบันอาเซียนคือดาวจรัสแสงที่เปล่งประกายมากกว่า นั่นเพราะหากมองลึกลงไปถึงกลุ่มประเทศอาเซียน มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 600 ล้านคน จะพบว่าการเพิ่มขึ้นของระดับรายได้ชนชั้นกลางส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) ไปสู่หัวเมืองใหญ่ ๆ กลายเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนของเอกชนจากทั่วโลก

 
จากผลการศึกษาของ UN พบว่า Urbanization Rate ในภูมิภาคอาเซียนยังอยู่เพียง 45% เมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้วที่ 78% ทำให้มีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก โดยฮิโรชิ โอนิชิ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อิเซตัน มิทซึโคชิ กรุ๊ปบอกว่า การเติบโตของชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนของบริษัทต่างชาติ และนับเป็นปัจจัยแรก ๆ ของการตัดสินใจเข้าไปลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจก็ว่าได้

 
อิเซตันมองว่า กลุ่มชนชั้นกลางยิ่งขยายตัวได้เร็ว ยิ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ แม้ว่าชนชั้นกลางส่วนใหญ่จะนิยมซื้อสินค้าที่มีคุณค่าและคำนึงถึงราคาที่เหมาะสมด้วย ดังนั้นเจ้าของสินค้าและธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องการเจาะตลาดกลุ่มชนชั้นกลางจะต้องบาลานซ์ทั้งสองส่วน ทั้ง “เส้นราคา” (Price Line) และ “คุณค่า” (Value) ของสินค้าให้มีความเหมาะสมด้วยเช่นกัน

 
“การจะเข้าไปลงทุนในประเทศใดก็ตาม เราต้องศึกษาและเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในประเทศนั้น ๆ ให้ดี เพราะนิยามของชนชั้นกลางในญี่ปุ่น พฤติกรรมการบริโภคจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ทว่าชนชั้นกลางในบางประเทศของอาเซียน คือกลุ่มผู้บริโภคที่เพิ่งหลุดจากภาวะความยากจน ดังนั้นการบริโภคจึงซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แม้บางครั้งอาจจะยกระดับการซื้อขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกลับซื้ออย่างฟุ่มเฟือย” โอนิชิ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อิเซตัน มิทซึโคชิ กรุ๊ประบุและกล่าวว่า

 
แม้ตลาดในอาเซียนจะถูกผลักดันด้วยกลุ่มชนชั้นกลางและมีโอกาสขยายตัวสูง แต่ทางอิเซตันยังคงต้องระมัดระวังในการลงทุนเช่นเดิม เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว อย่างเช่นในประเทศไทย ซึ่งอิเซตันได้เข้ามาลงทุนเป็นระยะเวลา 24 ปี นับตั้งแต่ปี 2535 แต่ก็ยังมีเพียงสาขาเดียวเท่านั้น เนื่องจากกลยุทธ์ที่นำมาใช้ยังไม่บรรลุผลตามเป้าหมาย ประกอบกับยอดขายในช่วง 5 ปีหลังมีแต่ลดลง เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีกำลังซื้อจะเลือกซื้อสินค้าในห้างหรือสินค้าระดับพรีเมียม

 
อย่างไรก็ดี บริษัทมองว่าลักษณะตลาดของไทยและญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกัน คือมีผู้บริโภคกลุ่ม Middle-Class ค่อนข้างมาก แต่การที่จะใช้กลยุทธ์เพื่อเพิ่มยอดขายจากกลุ่ม Middle-Class ขึ้นไปเป็น Upper-Class อาจจะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหลังจากนี้สินค้าที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าอิเซตันจะเพิ่มสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นเป็น 60% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 40% เพื่อขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มระดับกลางถึงบนที่นิยมสินค้าพรีเมียมจากญี่ปุ่นมากขึ้น

 
ทั้งนี้ คอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า “Japan Senses” เน้นนำเสนอไลฟ์สไตล์ความเป็นญี่ปุ่นขนานแท้ในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กลง ประมาณ 10,000 ตารางเมตร ทั้งนี้ หากกลยุทธ์ที่ใช้ในมาเลเซียประสบความสำเร็จก็จะนำมาขยายผลกับสาขาในสิงคโปร์ รวมถึงใช้เป็นโมเดลสำหรับการขยายสาขาใหม่ในประเทศไทยด้วย

 

โอกาสอีกครั้งของทุนญี่ปุ่น

 

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)
ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ได้แสดงทัศนะในงานสัมมนาเดียวกัน กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในอนาคตเร็ว ๆ นี้ เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัวเร็วที่สุด เพราะเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า อีกทั้งกฎหมายมีความคล่องตัว ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และสามารถขึ้นเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจของโลกได้

 
ส่วนประเทศที่มีโอกาสฟื้นตัวตามสหรัฐอเมริกา คือ ประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งไบโอเทคโนโลยี (Bio-Tech) รวมทั้งการพัฒนาหุ่นยนต์ (AI) ที่สำคัญ ญี่ปุ่นได้ออกไปลงทุนยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมาอย่างยาวนาน ถือเป็นข้อได้เปรียบประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นมีโอกาสพัฒนาขึ้นไปเทียบเท่ากับสหรัฐอเมริกาได้

 
อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นจะต้องปรับตัว คือต้องกล้า “เสี่ยง” ที่จะลงทุน ในระดับที่ไม่ทำให้บริษัทมีปัญหา เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีความระมัดระวังเรื่องการลงทุนอย่างมาก ส่งผลให้การฟื้นตัวเป็นไปได้ช้า ดังนั้นหากปรับในเรื่องการลงทุนได้เร็ว เชื่อว่าญี่ปุ่นจะสามารถขึ้นเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน

 
สำหรับเศรษฐกิจประเทศไทยและกลุ่มอาเซียน มุมมองของธนินท์ประเมินว่า เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลง ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 หรือ Industry 4.0 เพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่เทคโนโลยีใหม่ ถือว่าเป็นโอกาสของไทยและอาเซียน โดยเฉพาะไทยจะได้ประโยชน์ เพราะเป็นประเทศศูนย์กลางของอาเซียนและติดกับจีนและอินเดีย

 
แน่นอนว่าประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องภูมิประเทศ เป็นประตูอาเซียนอย่างแท้จริง รายล้อมทั้งจีน อินเดีย เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สามารถดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะการเปิดเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่ได้ให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ทั้งหุ่นยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการบิน เชื่อว่าจะเกิดการลงทุนในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคนในอนาคตมากขึ้น

 
“ในอนาคตจะต้องมีการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ รถยนต์ก็ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ไม่มีคนขับ ต่อไปมนุษย์อาจเหาะได้ หรือเครื่องยนต์ที่ทำให้สามารถเดินทางได้สะดวกเพียงแค่กดปุ่มก็ถึงบ้านโดยไม่ต้องบอกเส้นทาง เชื่อว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้ามาต่อไป มนุษย์จะมีความสุขมากขึ้น และทำงานน้อยลง ทำงาน 3 วัน ส่วน 4 วันที่เหลือก็เที่ยว เพราะอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ สั่งงานได้”

 
ส่วนความกังวลว่าในอนาคตเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะเกิดปัญาหาด้านแรงงานนั้น ธนินท์มองว่าในภาคอุตสาหกรรมการผลิตสามารถใช้หุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงานได้ อีกทั้งยังทำการผลิตมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ที่สำคัญ สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมงโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาทำงาน และการจัดหาสวัสดิการ ซึ่งทางซีพีเองได้สร้างโรงงานแบบที่ไม่ใช้คนงานในประเทศที่มีค่าแรงสูงอย่างยุโรปไปแล้ว รวมไปถึงโรงงานผลิตเกี๊ยวซ่าที่มณฑลเหอเป่ย ประเทศจีนซึ่งเป็นโรงงาน “ไร้คนงาน” ในสายการผลิตทั้งหมด และในอนาคตจะเห็นโรงงานในรูปแบบดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย

 

พร้อมกันนี้ ธนินท์ยังบอกถึงนโยบายการลงทุนของซีพีมีในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกว่า “การลงทุนของซีพียังคงยึดหลัก 3 ประโยชน์อย่างเหนียวแน่น คือ ประเทศที่เข้าไปลงทุนต้องได้ประโยชน์ ประเทศไทยได้ประโยชน์ และบริษัทได้ประโยชน์ โดยจะไม่เข้าไปแข่งขันกับเกษตรกรในประเทศเหล่านั้น แต่จะมีการนำเอาเทคโนโลยีรวมทั้งเงินทุนเข้าไปลงทุนเพื่อเสริมสร้างธุรกิจ และซีพีจะเข้าไปเติมเต็มในสิ่งที่เกษตรกรทำไม่ได้ เช่น การแปรรูปสินค้า ทำการตลาด รวมถึงการค้าไปยังกลุ่มประเทศต่าง ๆ นอกเหนือจากประเทศที่เข้าไปลงทุน

 
“ธุรกิจของซีพีเป็นห่วงโซ่จากภาคเกษตรถึงโต๊ะอาหาร ซึ่งในแต่ละขั้นตอนเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ได้ ถ้ามีมนุษย์อยู่ก็จำเป็นต้องมีอาหาร แต่ในอนาคต รูปแบบของอาหารจะเปลี่ยนไป ที่ผ่านมาซีพีได้มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก คิดค้นนวัตกรรมอาหารเพื่อตอบสนองผู้บริโภค อย่างเช่น อาหารเพื่อผู้สูงอายุ สำหรับรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต”

 
ก่อนหน้านี้ ซีพีได้ร่วมลงทุนกับอิโตชู คอร์ปอเรชั่น บริษัทการค้าชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น และ CITIC Limited ของประเทศจีน ซึ่งธนินท์มองเป้าหมายของความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจในเอเชียให้โดดเด่นบนเวทีโลก

 
“ในช่วงที่ผ่านมา เรามีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ประชุมร่วมกัน 3 เดือนครั้ง และผลัดกันเป็นเจ้าภาพเพื่อเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลต่าง ๆ ร่วมกัน ส่วนธุรกิจที่ซีพีมองว่าน่าสนใจและอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพัฒนา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ ทั้งอาหารเพื่อผู้สูงอายุ หรือการลงทุนเกี่ยวกับศูนย์การดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันในญี่ปุ่นก็ได้มีการพัฒนาอุปกรณ์และนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุโดยไม่ต้องพึ่งพาแรงงานคน แน่นอนว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ในอนาคตจึงจำเป็นจะต้องมีผลิตภัณฑ์เพื่อลูกค้ากลุ่มดังกล่าว”

 

เพชรที่รอการเจียระไน

 

ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกขยายตัวได้ไม่มากนัก แต่ภูมิภาคเอเชียกลับเป็นภูมิภาคที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศที่อยู่ใจกลางเอเชีย และถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ค่อนข้างมาก

 
สำหรับประเทศในอาเซียน แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจมีพื้นฐานดีแล้ว และอีกกลุ่มเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาอย่าง กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ซึ่งกลุ่มนี้มีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา กลุ่ม CLMV เติบโตอยู่ในระดับ 6.5-8.5% จุดเด่นของกลุ่มประเทศนี้คือ การมีแรงงานกว่า 160 ล้านคน และทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก

 
อย่างไรก็ดี หากเปรียบการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน คงเป็นดังเช่นเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน เพราะส่วนใหญ่เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อีกทั้งอาเซียนยังเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก มีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน
หากนับรวมจีนและอินเดียซึ่งเป็นตลาดที่อยู่ใกล้เคียง ตลาดจะมีขนาดใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งของโลก ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกด้วย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนดึงดูดให้นักลงทุนทั่วโลกเข้ามายังอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้นั่นเอง

 
ชาติศิริมองว่า ถ้าจะให้มองไปในอนาคต 10 ปี ข้างหน้า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจะมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

 

1. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เบื้องต้นประเมินว่าในภูมิภาคอาเซียน ยังมีความต้องการเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จำนวนนี้ไม่รวมสิงคโปร์ ผ่านการพัฒนาสาธารณูปโภค เช่น ถนน รถไฟฟ้า เขื่อน และลงทุนด้านการผลิตต่าง ๆ เป็นต้น “ในภาวะที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ถือเป็นโอกาสที่ควรจะมีการลงทุนต่อเนื่องในระยะยาวในอาเซียน”
2. การสนับสนุนทางด้านภาษี เนื่องจากกลุ่มประเทศอาเซียนยังต้องการการเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาติ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการเพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ขณะเดียวกัน บริษัทข้ามชาติสามารถใช้ประเทศกลุ่ม CLMV เป็นฐานการลงทุนด้านการผลิต เพื่อสร้างการแข่งขันที่ดีกว่าจากการมีฐานภาษีที่ต่ำ
สุดท้ายคือ

 

3. ความแข็งแกร่งของบริษัทขนาดใหญ่ที่สามารถขยายการลงทุนเป็นบริษัทข้ามชาติ พร้อมเพิ่มศักยภาพขยายธุรกิจออกไปทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก เช่น แอร์เอเชีย ซึ่งเป็นธุรกิจการบินของมาเลเซีย และกลุ่มซีพี เอสซีจี ปตท. บริษัทยักษ์ของไทย เป็นต้น

 

“ในส่วนของภาคธุรกิจการเงิน รวมถึงธนาคารกรุงเทพซึ่งมีสาขาอยู่ 9 สาขาในประเทศอาเซียน พร้อมสนับสนุนเงินทุนสำหรับธุรกิจในการขยายตัวทั้งในภูมิภาคและทั่วโลกอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความมั่งคั่ง มั่นคงของเศรษฐกิจในอาเซียนและเอเชีย แม้ว่าขณะนี้ยังมีข้อจำกัดการเปิดเสรีการเงิน ทำให้เงินทุนในประเทศต่าง ๆ ยังมีข้อจำกัดที่จะไหลเวียนไปอีกประเทศหนึ่ง แต่ในระยะต่อไป บริการทางการเงินน่าจะมีการเปิดเสรีได้ เพราะการสนับสนุนจากภาคการเงินจะช่วยให้เกิดการขยายตัวเศรษฐกิจ มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น”ชาติศิริกล่าวทิ้งท้าย