เงินเดือนในฝัน สายงานไหนตอบโจทย์ที่สุด

หนึ่งวันสำหรับมนุษย์อย่างเรา ส่วนใหญ่มักจะหมดไปกับการทำงาน จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการทำงานที่ใช่ พร้อมกับเงินเดือนที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้นั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่ฝัน มาดูกันดีกว่าว่าในภาวะเศรษฐกิจไทยซึ่งกำลังฟื้นตัว สายงานไหน จ่ายเงินเดือนในฝัน ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 ปี 2561 เงินเดือนเฉลี่ยของคนไทยนั้น เท่ากับ 228,412 บาทต่อปี หรือ ประมาณ 19,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสามารถจำแนกอุตสาหกรรมที่จ่ายค่าจ้าง เรียงจากมากไปน้อย ตามตัวเลขสถิติ ดังนี้

อุตสาหกรรม ค่าจ้าง (บาท/เดือน)
องค์การระหว่างประเทศ 26,600
วิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และเทคนิค 24,600
การเงินและการประกันภัย 23,600
การบริหารราชการ การป้องกันประเทศฯ 18,000
ขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า 17,400
อสังหาริมทรัพย์ 16,600
การผลิต 12,900
ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 11,800
โรงแรม และการบริการด้านอาหาร 11,200
ก่อสร้าง 10,100
เกษตรกร 5,700

ส่องเทรนด์ค่าจ้าง ปี 2554 – 2560

เงินเดือน

เงินเดือน

จากตัวเลขดังกล่าว หากเราทำงานอยู่องค์การระหว่างประเทศ ซึ่งจ่ายค่าจ้างเฉลี่ย เท่ากับ 26,600 บาทต่อเดือน โดยได้รับค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดในปี 2560 สูงถึง 55,000 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับสายงานอื่น แต่ก็แลกมากับความผันผวนของค่าจ้างที่ผกผันอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่ออนาคตได้ในเวลาต่อมา รองลงมา คือ สายวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคนิค การเงินและการประกันภัย ตามลำดับ สำหรับสายงานที่ได้รับค่าจ้างน้อยที่สุด คือ ภาคเกษตรกรรม

IMPACT

  • สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยยังคงไม่หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สืบเนื่องจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั้งค่าที่พัก และค่าเดินทาง น่าจะเกือบ 2 ใน 3 ของค่าจ้างในบางสายงาน ประกอบกับไม่สามารถตอบสนองปัจจัยสี่ได้เท่าที่ควร
  • การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอาจยังไม่สะท้อนความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะยังไม่สามารถกระจายรายได้ทุกภาคส่วนอย่างเสมอภาค
  • สุดท้ายนี้ อาจเป็นแนวทางในการเลือกสายงานในอนาคต หรือแม้กระทั่งการเลือกสายเรียนเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มโอกาสทางการเงินในอนาคต

ดังนั้น หาก ‘โอกาสทางสังคม’ มีให้แก่ทุกคน จะเป็นหนทางที่ทำให้มีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของเรานั้นดีขึ้น ทั้งการเข้าถึงการศึกษา ช่องทางการสร้างรายได้ และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือแม้กระทั่งการทานอาหารครบ 3 มื้อในทุก ๆ วัน ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม เพื่อรากฐานของเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต