ปิดหลักสูตร

สถาบันอุดมศึกษาไทย ตกที่นั่งลำบาก มีโอกาสปิดหลักสูตร-แนวโน้มปิดตัวสูงขึ้น

ในแวดวงการศึกษาไทย คงพอได้ยินกันมาสักพักแล้วว่ามีจำนวนนักศึกษาใหม่เข้าเรียนลดลงกว่าเดิม แถมอุดมศึกษาบางแห่งยังประสบปัญหาจากบุคลากรที่ไม่ยอมปรับตัว ทำให้ในหลายสถาบันมีการปิดหลักสูตรบางหลักสูตรลง หรือเลวร้ายกว่านั้นคือปิดตัวไปเลยเช่น มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเพิ่งประกาศปิดหลัดสูตรไปแล้วกว่า 60 หลักสูตรเพราะไม่มีคนเรียน

ซึ่งหากไม่มีการปรับปรุงหลักสูตรหรือวิธีการสอนใหม่ มหาวิทยาลัยในประเทศมีแนวโน้มที่จะปิดตัวเพิ่มมากขึ้น เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาขณะนี้ ที่สถาบันอุดมศึกษาปิดตัวไปแล้ว 500 แห่ง และเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,000 แห่งในช่วง 10 ปีข้างหน้า

ศ.นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายการศึกษาไทย ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 4.0” เน้นย้ำการทำหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาในฐานะผู้ผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ และสร้างองค์ความรู้ทางงานวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ

มหาวิทยาลัยไทยยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีการสื่อสารการมีหลักสูตรออนไลน์และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศ ดังนั้นทิศทางการทำงานของสถาบันอุดมศึกษาจึงต้องเน้นการบูรณาการเรียนใหม่ ไม่เน้นเฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่ง แต่ต้องเรียนรวมเชื่อมกับคณะอื่นได้ ซึ่งในปีการศึกษา 2561 นี้ กระทรวงศึกษาธิการจะทำงานร่วมกับ 7 มหาวิทยาลัยนำร่องในการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยมีแรงจูงใจเป็นเงินอุดหนุนให้แก่สถาบัน

ทั้งนี้ นอกจากการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพแล้ว สิ่งที่สถาบันอุดมศึกษาต้องทำคือการพัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เพื่อมาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการของประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งได้ถูกบรรจุให้เป็นหน้าที่ของสถาบันในพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.ที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้

ที่มา prachachat.net