ดิจิทัล เวนเจอร์ส

ตามมาดู 9 สตาร์ทอัพดาวรุ่งที่ดิจิทัล เวนเจอร์ส ร่วมลงทุน

ในเครือข่ายพันธมิตรกับสตาร์ทอัพทั่วโลกกว่า 800 ราย และเวนเจอร์แคปปิตอลในต่างประเทศอีกกว่า 60 ราย จาก 29 ประเทศทั่วโลกของธนาคารไทยพาณิชย์ ภายใต้การดำเนินงานของดิจิทัล เวนเจอร์ส จะมีดาวเด่นอยู่ 9 ดวงที่ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ให้น้ำหนักเป็นพิเศษในช่วง2ปีที่ผ่านมา

มาดูกันซิว่า 9 สตาร์ทอัพภายใต้ดาวจรัสแสงในสายตาของ ดิจิทัล เวนเจอร์ส เป็นใครและน่าสนใจอย่างไร

1.Golden Gate Ventures หนึ่งในกองทุนสตาร์ทอัพชั้นนำที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น (Early Stage)

2. Nyca Partners เวนเจอร์แคปปิตอลชั้นนำด้านฟินเทคของสหรัฐอเมริกา ที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวม ความเชี่ยวชาญจากสองยักษ์ใหญ่แห่งโลกการเงินและเทคโนโลยีอย่างวอลล์สตรีทและซิลิคอนแวลลีย์

3.Dymon Asia Ventures เวนเจอร์แคปปิตอลชั้นนำของสิงคโปร์ มุ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคที่ทำธุรกิจแบบ B2B

4.Arbor Ventures เวนเจอร์แคปปิคอลชั้นนำด้านฟินเทคของฮ่องกง ที่มีการลงทุนครอบคลุมทั้งในเอเชีย อเมริกาเหนือ ยุโรป และภูมิภาคตะวันออกกลาง

5.Ripple บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการชำระเงินชั้นนำของโลกจากสหรัฐอเมริกา โดยธนาคารไทยพาณิชย์นับเป็นสถาบันการเงินไทยแห่งแรกที่ริเริ่มลงทุน ศึกษา และทดลองการโอนเงินระหว่างประเทศบนเทคโนโลยี Blockchain

6.Pulse iD สตาร์ทอัพด้านการบริการข้อมูลเพื่อระบุพิกัดซึ่งก่อตั้งขึ้นในฮ่องกง มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อระบุตัวตนสำหรับใช้ในธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างระบบความปลอดภัยทางการเงิน การระบุตัวตนลูกค้า และการสร้างความผูกพันกับลูกค้าให้เหนือระดับยิ่งขึ้น

7.PayKey สตาร์ทอัพจากอิสราเอล ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มปฏิวัติการชำระเงินรูปแบบใหม่บนคีย์บอร์ด ของอุปกรณ์สื่อสารที่ช่วยให้ลูกค้าธนาคารสามารถโอนเงินผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คที่หลากหลาย โดยเชื่อมโยงเข้ากับแอพพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งของธนาคาร

8.IndoorAtlas ผู้พัฒนาเทคโนโลยีระบุพิกัดตำแหน่งพื้นที่ในร่มจากฟินแลนด์ ซึ่งดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้ใช้เทคโนโลยีนี้ร่วมพัฒนาในแอพพลิเคชั่น Chatuchak Guide ที่เป็นหน้าร้านออนไลน์ให้กับร้านค้าในตลาดนัดจตุจักร ซึ่งเทคโนโลยีนี้ช่วยอำนวยความสะดวกในการนำทางให้ผู้ซื้อเดินหาร้านค้าได้แม่นยำและรับข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ จากร้านค้าได้แบบเรียลไทม์

9.1QBit ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านเทคโนโลยีควอนตัมและควอนตัมคอมพิวเตอร์จากแคนาดา มีศักยภาพในการแก้ปัญหาทางธุรกิจที่มีความสำคัญสูง สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุน การบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ และการรักษาความปลอดภัย

จากรายชื่อสตรา์ทอัพทั้ง 9 ก็พอทำให้เห็นภาพว่า เป็นการลงทุนในสตาร์ทอัพที่ล้วนแล้วแต่เป็นสตาร์ทอัพและเวนเจอร์แคปปิตอลที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงและสิ่งที่ SCB จะได้กลับมาจากการลงทุนเหล่านี้คือโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นสูง (Deep Technology) ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีหลักที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ของSCB ได้

อย่างไรก็ตามในไตรมาส 1 ปี 2561  SCB มีผลประกอบการเพิ่มขึ้น 6.6% จากปีก่อนทำให้มีรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 42,318.73 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายทางการตลาดในการขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะลูกค้าบนระบบดิจิทัล (Digital acquisition) และการลงทุนทางด้านดิจิทัลตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2561มีจำนวน 11,364 ล้านบาท ลดลง 4.6% จากปีก่อน

แต่นี่ก็ไม่ใช่ปัญหาในการลงทุนในปีนี้แต่อย่างใด เพราะล่าสุด SCB ได้ประกาศเพิ่มงบลงทุนในหน่วยงานทุนองค์กร หรือ Corporate Venture Capital อีก 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากการลงทุนก่อนหน้าถึงเท่าตัว พร้อมปรับกลยุทธ์มุ่งสู่การลงทุนโดยตรงในเทคสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี แห่งอนาคตทั่วโลก และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ

แน่นอนว่าการลงทุนครั้งนี้ SCB คงเห็นแล้วว่าสิ่งที่จะได้กลับมาในอนาคตนั้น คุ้มค่ากว่าที่เสียไปอย่างแน่นอน หรืออีกนัยหนึ่งอาจมองได้ว่า SCB กำลังพยายามก้าวผ่านการเป็นธนาคารหรือสถาบันการเงินไปสู่การเป็นแพลตฟร์อมหรือการเป็นองค์กรเวนเจอร์แคปปิตอลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยดังคำกล่าวของ  ดร. อารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer and Chief Strategy Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเปิดเผยว่า

“ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารฯ ประสบความสำเร็จในด้านการลงทุน รวมทั้งการร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับเวนเจอร์แคปปิตอลและสตาร์ทอัพต่างๆ ทำให้ธนาคารฯ สามารถเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นสูง (Deep Technology)ซึ่งทำให้ ธนาคารฯ สามารถเข้าถึง และเรียนรู้นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดจากกิจการที่ได้เข้าไปลงทุน อาทิ บล็อคเชน ควอนตัมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งการทำงานขององค์กรธุรกิจและผู้บริโภคทั่วไป”