World No Tobacco Day หยุดสูบ หยุดโรคมะเร็ง

เนื่องในวันที่ 31 พฤษภาคม เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) ของทุกปี บิสิเนสพลัสขอเป็นส่วนหนึ่งในการตระหนักถึงพิษภัย และรู้เท่าทันถึงโทษภัยของการสูบบุหรี่

 

เชื่อว่าหลายๆคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ร่ายกายค่อยๆเสื่อมสภาพหรือแก่เร็วขึ้น และยิ่งสูบติดต่อกันเป็นเวลานานๆก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็น โรคมะเร็งปอด หรือโรคทางเดินหายใจ ส่งผลต่อการเป็นโรคถุงลมโป่งพอง และโรคมะเร็งอื่นๆ ที่จะตามมาอีกหลายชนิดได้ง่ายๆ

 
ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าผู้ที่เป็นมะเร็งปอดนั้น ร้อยละ 90 เป็นผลเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ โดยมีผลวิจัยระบุว่า ผู้ที่สูบบุหรี่เกินวันละ 1 ซอง จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 5-20 เท่า ปัจุบันโรคมะเร็งยังคงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่พบโรคมะเร็งปอดมากเป็นอันดับ 2 ในผู้ชาย และอันดับ 4 ในผู้หญิงและเป็นสาเหตุการตายสูงสุดอันดับ 1 ของคนไทย ติดต่อมาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี

 

วันงดสูบบุหรี่โลก

 

ย้อนกลับไปในช่วงที่มนุษย์จะรู้จักกับบุหรี่ โรคมะเร็งปอดถือ เป็นโรคประหลาดที่พบได้ไม่บ่อย แต่พอหลังจากมีการสูบบุหรี่อย่างกว้างขวาง โรคมะเร็งปอดเกิดขึ้นในโลกใบนี้อย่างมากมาย ซึ่งสาเหตุมาจาก สารก่อมะเร็งโดยเฉพาะ Tar ที่ทำให้ปอดเราเหมือนมียางมะตอยเกาะในปอด มีการประมาณกันว่า หากไม่มีบุหรี่ มะเร็งปอดจะลดลงถึง 80-90% ทั่วโลกเลยทีเดียว

 

 

แต่ในกลุ่มชาวเอเชีย เช่น ชาวไทย ลักษณะของมะเร็งปอดจะแตกต่างออกไป คือ 40-60% ของมะเร็งที่เกิดในคนไทยไม่ได้มาจากการสูบบุหรี่โดยตรง แต่เกิดจากความผิดปกติของ gene บางตัวในเซลล์ นั่นเท่ากับว่าบุหรี่ไม่ได้ทำให้เพิ่มความเสี่ยงแค่มะเร็งปอด แต่ยังทำให้เสี่ยงต่อมะเร็งเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นต้น เนื่องจากในบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมาก จึงทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด

 

 

ปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดหลักๆ คือ การสูบบุหรี่ รวมไปถึง การสูบบุหรี่มือสอง คือ ไม่ได้สูบเองแต่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น รวมทั้งก๊าชเรดอน (radon gas) เยื่อใยหิน (asbestos) และประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอด

 

 

ส่วนการป้องกันมะเร็งปอดนั้น นอกจากจะไม่สูบบุหรี่แล้วยังต้องหลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อมแล้ว รวมไปถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 – 40 นาที รับประทานผักและผลไม้ให้เพียงพอ เน้นทานอาหารที่มีวิตามินซีและอีสูง รวมถึงการถ่ายภาพรังสีทรวงอกในการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ก็ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันมะเร็งได้เป็นอย่างดี

 
นอกจากนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำวิธีสำรวจตัวเองง่ายๆ เช่น อาการไอเรื้อรัง ไอแห้ง ไอเป็นเลือด เสียงแหบ เจ็บหน้าอก หอบ เหนื่อย ในบางครั้งอาจจะมีอาการอื่นร่วม เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย แบบนี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะยิ่งตรวจพบเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งรักษาได้เร็วเท่านั้น