วัฒนธรรมการศึกษา 4.0 เรียนตาม passion หรือตามที่ผู้ใหญ่สบายใจ

ไทยแลนด์ 4.0 ต้องการคนรุ่นใหม่ที่มี “passion” และพลังสร้างสรรค์ แต่เรายังมีวัฒนธรรมการเลือกสาขาตามความนิยมของผู้ใหญ่ ไม่ใช่ตามความชอบหรือความสนใจของเด็ก หรืออาจเพราะเด็กไทยไม่มีความชอบหรือความสนใจในอะไรเลย?

รวมทั้งค่านิยมเก่าก็ยังหนาแน่นในหลายพื้นที่ เช่น พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนสายสังคมเพื่อเป็นข้าราชการ เป็นเจ้าคนนายคน ไม่ได้เห็นว่าหัวใจของการศึกษาควรเป็นไปเพื่อการพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งสุดท้ายย่อมนำไปสู่พลังการสร้างสรรค์อย่างเสรีในระบบเศรษฐกิจด้วย

หรือที่เราอาจหาเด็กที่อยากเรียนวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เพราะเรามีเด็กเก่งวิทยาศาสตร์อยู่น้อยมากในชั้นมัธยมฯ? ดังนั้น การแก้ปัญหาการขาดบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ของไทยจึงไม่ใช่เพียงแค่กำหนดให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่ต้องดูถึงการส่งเสริมการเรียนการสอนและการพัฒนาวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการศึกษาภาคบังคับด้วย

เราต่างอยากเป็นคนมีวิสัยทัศน์ (จะได้รู้ว่าจะแนะนำให้ลูกเรียนอะไร) เราต่างอยากให้ประเทศมีวิสัยทัศน์ (จะได้กำหนดสาขาให้เด็กไทยเรียน พาประเทศไปไทยแลนด์ 4.0 ได้เสียที) แต่การศึกษาไม่ใช่เรื่องผลิตคนป้อนตลาดแรงงานแต่เพียงเท่านั้น หัวใจของการศึกษา คือ การพัฒนาคนให้บรรลุศักยภาพและพลังสร้างสรรค์ที่เขาและเธอมี ถ้าเราเข้าใจการศึกษาในแนวทางนี้ เราก็จะต้องพยายามเพาะความรัก ความสนใจ และไฟฝันให้แก่เด็กตั้งแต่ยังเล็ก (ไม่ว่าเขาและเธอจะสนใจสาขาใดก็ตาม) เราต้องแนะนำเด็กว่าหัวใจของการศึกษาอยู่ที่ทักษะ วิธีคิด และการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด เพื่อเขาจะได้มีโอกาสใช้ศักยภาพในทางสร้างสรรค์ และสร้างคุณค่าให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศตามฝันไทยแลนด์ 4.0

ยิ่งในโลกยุคใหม่ เราไม่มีทางรู้ว่า ตลาดแรงงานในอนาคตจะเป็นอย่างไร? งานไหนจะหด งานไหนจะหาย งานใหม่จะหน้าตาเป็นอย่างไร?

คำถามจึงไม่ใช่ว่าทำอย่างไรเราจะได้บัณฑิตวิทยาศาสตร์แทนสายสังคม? ไม่ใช่ทำอย่างไรเราจะส่งเสริมบัณฑิตในสาขาใหม่ตามวิสัยทัศน์ในยุทธศาสตร์ชาติแทนที่สาขาดั้งเดิม? คำถามที่ถูกต้อง คือ ทำอย่างไรเราจะได้บัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมการศึกษาใหม่ ที่พร้อมปรับตัวกับงานใหม่ และพร้อมสร้างสรรค์งานใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย

ไทยแลนด์ 4.0 ไม่ได้ต้องการคนสาขาใดเป็นพิเศษ แต่ต้องการวัฒนธรรมการศึกษา 4.0 ครับ

Cr.อาร์ม ตั้งนิรันดรthaipublica