รู้แล้วไม่ต้องเหยียบ!! ครม.ไฟเขียว ผู้ถือครอง 58 พันธุ์ไม้…ค้ำได้ – กู้โลด

จริงๆ แล้ว SME ไทยในบ้านเราหลายรายมีรูปแบบกิจการที่น่าทึ่งกันทั้งนั้น และยิ่งธุรกิจ SME รายไหนไปได้สวยและเริ่มจะติดลมบน ถ้าได้แรงหนุน ส่งเสริม และผลักดัน รับรองว่าไปโลดแน่นอน

 

แต่การที่จะก้าวไปแต่ละขั้นนั้น บางรายก็ยากเย็นแสนเข็น บางรายได้รับแรงสนับสนุนทางการเงินก็โชคดีไป แต่ในบางรายที่ไม่ได้ และถ้าต้องต่อยอดขยายธุรกิจ หรืออยากได้ทุนเพิ่ม แต่หลักทรัพย์มีจำกัด หรือ ไม่เพียงพอกับการใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจะทำยังไง

 

เรื่องการขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงเป็นเรื่องใหญ่ของการทำธุรกิจในยุคนี้จริงๆ ถึงขนาดที่ว่าธุรกิจหลายๆ รายที่ประสบความสำเร็จยัง พูดตรงกันเป็นเสียงเดียวเลยว่า ถ้าไม่มีหน่วยงานด้านค้ำประกันมาช่วย ธุรกิจคงไปไม่ถึงฝัน

 

จริงๆ แล้วบทบาทเกี่ยวกับหลักทรัพย์ประกันของธุรกิจ โดยเฉพาะกับ SME นั้น มีแม่งานอย่าง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใต้กระทรวงพาณิชย์อยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่เวลาธุรกิจส่วนใหญ่จะไปหาเงินกู้ ก็มักจะคิดว่าสิ่งที่นำไปค้ำได้ คือ ตัวกิจการ อสังหาริมทรัพย์ หรือบัญชีเงินฝากที่มากโข หรือใครมีเส้นสายหน่อยก็ใช้บุคคลเป็นตัวค้ำ ซึ่งมันก็เป็นอะไรที่ยากกับทุนใหม่รายเล็กพอสมควร

 

แต่จริงๆ แล้ว ในปัจจุบันมีรายการทรัพย์สินอื่นๆ ที่สามารถอยู่ในเงื่อนไขเพื่อนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจที่อาจจะมีหลายท่านไม่ทราบ

ตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้ทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้มี จำนวน 6 ประเภท ได้แก่

 

1. ตัวธุรกิจหรือกิจการ
2. สิทธิเรียกร้อง เช่น สัญญาเช่า บัญชีเงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า เป็นต้น
3. “สังหาริมทรัพย์” ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบ เป็นต้น
4. “อสังหาริมทรัพย์” ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร หมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น
5. ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ เป็นต้น
6. ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งขณะนี้ทรัพย์สินที่นำมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจมีครบตาม (1) – (5) แล้ว

นั่นหมายความว่า หาก SME มองเห็นถึงหลักเกณฑ์การขอหลักค้ำประกันด้วยสินทรัพย์ที่กว้างขึ้น ก็มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้นตาม

 

ที่นี้ ที่น่าเซอร์ไพรซ์หน่อย คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีแนวคิดจะออกกฎกระทรวงเพื่อเพิ่มทรัพย์สินอื่นมาเป็นหลักประกัน คือ “ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ” ซึ่งอันที่จริงจะทำให้เกิดประโยชน์หลายทาง เช่น ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออม การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทย

 

นอกจากนี้ ประชาชน ยังสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้ระหว่างการปลูก โดยนำไปเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินได้ และเบื้องต้นกรมฯ ได้รับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย เช่น

– สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม
สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน
กรมป่าไม้
องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
สมาคมธนาคารไทยและธนาคารรัฐ เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน SME Bank

 

ก็เรียกได้ว่าทุกหน่วยงานสนับสนุนให้กระทรวงพาณิชย์เร่งออกกฎกระทรวงกำหนดให้ “ต้นไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ” เป็นหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะเป็นไปตามแผนที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมตั้งเป้าหมายไว้ภายใน 1 ปี (ภายในเดือนกันยายน 2561)

…และไม่นานมานี้ ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็เผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยมีสาระสำคัญกำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า รวม 58 ชนิด มาเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความสะดวกและมีโอกาสในการประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งร่างกฎกระทรวงฯ นี้จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

 

เรียกได้ว่าน่าจะเป็นข่าวดีของผู้ประกอบการระดับ SME ในบ้านเราตอนนี้ ซึ่งถ้าวัดๆ ดูแล้วก็น่าจะมีกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และถ้าเป็นส่วนของประเทศที่มีพื้นที่ของตนเองอยู่แล้ว แต่ไม่เคยได้นำมาใช้ประโยชน์ในเชิงเกษตรกรรม ก็สามารถนำเงื่อนไขนี้มาสร้างมูลค่าเพื่อเข้าหาแหล่งทุนในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง…

Lecture…ใครมี 58 พันธุ์ไม้นี้ ใช้เป็นหลักประกันค้ำธุรกิจได้