ม.หอการค้าไทย

ม.หอการค้าไทย ก้าวสู่ Trade & Service 4.0

ม.หอการค้าไทย จับมือ 11 บริษัทภาคเอกชน สร้างนักรบเศรษฐกิจ บัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อก้าวสู่ Trade & Service 4.0

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ คณะกรรมการ Creative Digital Economy สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 11 บริษัทภาคเอกชน ด้านธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบด้วย บริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) , บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน), บริษัท ดิ เอ็กซ์เพิร์ท ไอซีที จำกัด, บริษัท ทูสปอตคอมมิวนิชั่น จำกัด, บริษัท ออพติมุส (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท ดี บัสซ์ จำกัด, บริษัท ยิบอินซอย จำกัด, บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด และ บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการ สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้การขับเคลื่อนนโยบาย Trade & Service 4.0

รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นสถาบันการศึกษาเอกชนชั้นนำด้านธุรกิจ การค้า และอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งมี พันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยในการเป็น Practice-University ที่ให้ความรู้และพัฒนาทักษะแก่นักศึกษา ไม่ว่าจะเรียนคณะใด นักศึกษาทุกคนเมื่อจบการศึกษาเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต้องมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ที่สามารถใช้นวัตกรรมและดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ หรือที่เรียกว่า IDE (Innovation Driven Entrepreneurship) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่กำหนดให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคน จากทุกคณะและสาขา ฝึกฝนทักษะพื้นฐานการโค้ด (Coding) หรือ การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์สมัยใหม่ โดยมีการเปิดสอนวิชา GE201 การคิดเชิงนวัตกรรมทางดิจิทัลและการโค้ด (Digital Innovative Thinking and Coding) เพราะเทคโนโลยีที่เราใช้ประโยชน์กันทุกวันนี้ เบื้องหลังต้องเกี่ยวข้องกับการ Coding ทั้งนั้น วิชานี้จะช่วยฝึกให้นักศึกษาคิดอย่างเป็นระบบ และสามารถสร้างคำสั่งให้โปรแกรมทำงานให้ตามที่เราต้องการได้ หากผู้ประกอบการมีทักษะการ Coding จะช่วยให้พวกเขาต่อยอดความคิดไปได้ไกลกว่าเดิม สามารถสร้างสรรค์โซลูชั่นต่างๆ ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับสังคมได้ในอนาคต
ดังนั้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีความพร้อมเดินหน้าให้ความรู้ และพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ตามแนวทางการเป็น Practice University ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน Work Integrated Learning หรือ WIL ร่วมกับ สถานประกอบการ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้การขับเคลื่อนนโยบาย Trade & Service 4.0 ด้วยเครือข่ายหอการค้าไทยที่เป็นจุดแข็งของเรา ผ่านโครงการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการ (สหกิจศึกษา) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโครงการฯ จากองค์กรภาคเอกชน 11 บริษัท นั้น

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกับองค์กรที่มี ส่วนเกี่ยวข้อง โดยจะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนในการเสริมทักษะในการปฏิบัติงานจริงให้แก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการ และ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยทั้งสองฝ่ายตกลงจัดทำบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือทางวิชาการ โครงการพัฒนาบุคลากรด้านธุรกิจดิจิทัลและบริการ (สหกิจศึกษา) ภายใต้ เจตนารมณ์และหลักการร่วมกันในสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพด้านธุรกิจดิจิทัลและบริการมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ เศรษฐกิจและบริการของประเทศต่อไป

ม.หอการค้าไทย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดสาขาวิชาใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการ จำนวน 4 สาขา ได้แก่ Big Data Management, Game Business, Digital Technology และ Digital Content Creation รวมทั้งหลักสูตรระยะสั้น 2 หลักสูตร ได้แก่ Industry of Digital Communication Business และ Data Science ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ ได้รับการสนับสนุนด้านทุนการศึกษา จากองค์กรผู้สนับสนุนโครงการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการ (สหกิจศึกษา) จำนวน 30 ทุน ให้แก่นักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2561 ที่สมัครเรียนสาขาวิชาใหม่ดังกล่าว จะได้รับโอกาสในการทำงานกับบริษัทเหล่านี้ตั้งแต่ขณะที่กำลังเรียนอยู่ และภายหลังที่จบการศึกษาแล้วเพื่อพัฒนาทักษะและต่อยอดประสบการณ์โดยตรง

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยฯ ที่กำลังเดินหน้าสร้าง “นักรบเศรษฐกิจ บัณฑิตพันธุ์ใหม่ ยุคดิจิทัล 4.0” ที่แตกต่าง ใฝ่เรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน มีความคิดเชิงนวัตกรรม มีความสามารถในการปรับตัว ทำงานด้วยความเชื่อมั่นที่ว่าทุกอย่างเป็นไปได้ และที่สำคัญ “กล้าลงมือทำ” เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศทั้งในภาคธุรกิจและการบริการในยุคธุรกิจดิจิทัล ให้เกิดขึ้นได้เร็วที่สุดในโลกแห่งเศรษฐกิจยุคดิจิทัล

ม.หอการค้าไทย