6 ภารกิจ พลิกฟื้นโรงงานเคียงคู่สังคม

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเผย 6 ภารกิจ ยกระดับงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ได้มาตรฐานสากล ทั้งการทำ Zoning สร้าง Industrial Town กำจัดกากของเสีย รวมถึงการสร้างระบบประกันความรับผิดชอบต่อชุมชน ตามแนวทางการสนับสนุนให้โรงงานอยู่เคียงคู่กับชุมชนได้อย่างมีความสุข

ภายใต้สภาวะที่ประเทศไทย กำลังผลักดันประเทศเข้าสู่ความเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศในอาเซียน ด้วยความพร้อมทั้งด้านภูมิประเทศ กฎระเบียบและการส่งเสริมการลงทุน ประกอบกับการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 มุมมองเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม การส่งเสริม และการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมของไทย จึงเป็นที่จับตามองอย่างมาก ทั้งจากผู้ประกอบการภายในประเทศเอง และผู้ประกอบการต่างประเทศ

นับเป็นโอกาสอันดีที่นิตยสาร Business+ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผู้บริหารหนุ่ม วิสัยทัศน์กว้างไกล ที่ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ซึ่งนับเป็นผู้บริหารหนุ่มระดับอธิบดีที่มีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการ การกำกับดูแล การส่งเสริมสนับสนุน โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงการยกระดับการบริหารจัดการภายในกรมให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

Business+ วิสัยทัศน์ และพันธกิจ ในการบริหารจัดการกรมฯ

อธิบดี  กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีหน้าที่ในการกำกับดูแลโรงานทั่วประเทศให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยสิ่งที่กรมฯ ดูแล เป็นเรื่องผลกระทบที่จะมีต่อชุมชน ผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อดูว่าโรงงานมีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ชุมชนไหม มีการปล่อยกลิ่นที่ไม่ดี ปล่อยควันพิษ รบกวนชาวบ้านหรือไม่ รวมไปถึงการดูแลในเรื่องของการขจัดของเสีย การกำจัดกากของเสีย และสารพิษเป็นไปตามข้อกำหนด คำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนหรือไม่

นอกจากการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว กรมฯยังมีพันกิจในการส่งเสริม และสนับสนุน ข้อมูลและองค์ความรู้ด้านเครื่องจักร การผลิต สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย วัตถุอันตราย พลังงาน และความรับผิดชอบต่อสังคม ให้กับโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้ โรงงานปรับตัวเองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อีกด้านหนึ่ง คือ เรื่องของการออกใบอนุญาตในการตั้งและขยายโรงงาน ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ เอกสาร หลักฐาน เทคโนโลยีในการผลิตและการกำจัดของเสียที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราบังคับใช้กฎหมายภายใต้ พระราชบัญญัติ โรงงาน พ.ศ. 2535

อีกกฎหมายหนึ่งที่กรมฯ บังคับใช้ คือ พระราชบัญญัติ วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535  ซึ่งมีคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งทำหน้าที่เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในการออกประกาศควบคุมการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ เพื่อป้องกันและระงับอันตรายที่อาจมีต่อคน สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม โดยกรมฯจะทำหน้าที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับวัตถุอันตรายทางอุตสาหกรรม นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2514 ดำเนินการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปจำนองหรือขายฝากกับสถาบันการเงินได้

นอกจากภารกิจที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบแล้ว กรมฯ ยังมีภารกิจที่ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ซึ่งพิธีสารด้านสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน คือ พิธีสารมอนทริออล ว่าด้วยการลด และเลิกการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน  ซึ่งประเทศไทยต้องปฏิบัติตามมิเช่นนั้นอาจถูกมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศสมาชิกอื่นๆได้

Business+ บทบาทของกรมในวันนี้เป็นอย่างไร

อธิบดี  บทบาทของกรมฯ นอกจากงานด้านการอนุญาต ตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว การกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ทั่วประเทศเกือบ 140,000 ราย นับเป็นบทบาทสำคัญที่ต้องเข้าไปกำกับดูแล ทั้งมลพิษทางน้ำอากาศ รวมถึงปัญหาอื่นๆที่มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในแต่ละจังหวัดเป็นผู้ดูแลโรงงานในแต่ละจังหวัด ส่วนกรมฯจะเป็นผู้รับผิดชอบโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และเป็นหน่วยสนับสนุนด้านวิชาการให้กับแต่ละจังหวัด โดยในปีที่ผ่านมา กรมฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมถึง 841 ครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องกลิ่นและเสียง ซึ่งกรมฯได้สั่งการให้โรงงานดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแล้ว

อีกเรื่องที่กรมถือเป็นเรื่องสำคัญคือ การจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของทุกประเทศ เพราะโรงงานเมื่อผลิตของเสียก็จะมีกากของเสียเกิดขึ้น ซึ่งจากรายงานที่แจ้งมายังกรมฯ ปัจจุบันเรามีกากของเสียอันตรายปีละ 2.5 ล้านตัน แต่มีใบขนออกจริงแค่ 9 แสนตัน คำถามคือ ส่วนที่หายไปอีก 1.4 ล้านตันหายไปไหน เมื่อผมเข้ามารับตำแหน่ง ผมออกตรวจบ่อยมาก พบว่ามีการลักลอบทิ้งกากของเสียมาโดยตลอด มีระบบลักลอบทิ้งกากของเสียเป็นขบวนการเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะค่าใช้จ่ายในการบำบัดกากของเสียอย่างถูกวิธี จะมีค่าใช้จ่ายในการบำบัด 3,000-10,000 บาทต่อตัน คนที่ไม่มีจรรยาบรรณก็ลักลอบทิ้งกากของเสีย  ปีนี้ผมจึงสั่งตรวจโรงงานบำบัดกากของเสีย 400 กว่าโรงงาน ว่ามีความสามารถบำบัดจริงไหม แล้วของเสียเหล่านี้ไปโรงงานนี้ได้จริงเหรอ

ภารกิจอีกด้านหนึ่งที่กรมฯได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ  การส่งเสริมการอยู่ร่วมกับของโรงงานอุตสาหกรรม และชุมชน ซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหาค่อนข้างมาก เพราะเมื่อพูดถึงโรงงานแล้ว ชาวบ้านไม่เอา เพราะสิ่งที่รับรู้คือ ที่ไหนมีโรงงานอุตสาหกรรม จะต้อมีมลพิษ เช่น กลิ่นเหม็น เสียงดัง น้ำเน่าเสีย ใสอดีตโรงงานไม่ได้ใส่ใจเรื่องผลกระทบมากนัก แม้จะมีกฎหมายกำกับดูแลแต่ก็มีการลักลอบอยู่เสมอ ถ้ากรมฯไม่เข้าไปดูแลประชาชนชนปัญหาไม่จบ บางเคสเราต้องให้โรงงานปรับปรุงผลกระทบให้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันโรงงานส่วนใหญ่ก็อยู่ร่วมกับชุมชนได้ดี บทบาทตรงนี้ นอกจากจะต้องทำความเข้าใจกับทั้งสองฝ่ายแล้ว ก็ยังต้องมีบทบาทในด้านของการกำกับดูแลอีกด้วย

Business+ แผนงานภายใต้วิสัยทัศน์อธิบดีมีอะไรบ้าง

อธิบดี สิ่งที่ผมอยากทำมี 6 ภารกิจ ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่มีความสำคัญมากที่สุด ได้แก่

ภารกิจแรกสุดเลย คือ การจัดการกากของเสียอย่างเป็นระบบ วันนี้ระบบในการกำกับดูแลของกรมฯ เป็นระบบการกำกับด้วยเอกสาร ผ่านใบกำกับการขนย้าย หรือที่เรียกว่าใบ Manifest  มีใบ Manifest มาถือว่าจบ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นจริงตามเอกสารที่ยื่นมาไหม ผมจึงมีความคิดที่จะปรับเปลี่ยนระบบ โดยการนำเทคโนโลยี RFID เข้ามาช่วย ซึ่ง RFID จะเข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูลของการขนกากของเสียว่ามีการดำเนินการไปตามขั้นตอนอย่างถูกต้องหรือไม่ มีการนำไปบำบัดตามระบบที่ได้กำหนดไว้หรือเปล่า โดยเมื่อกากของเสียออกจากโรงงานนั้น เราสามารถบันทึกข้อมูลลง RFID ได้เลยว่า มีของเสียจำนวนเท่าไร กี่ตัน ตรงตามที่ระบุหรือไม่ กำลังจะนำไปบำบัดที่ไหน มีการปิดภาชนะบรรจุอย่าง แล้วติด RFID กำกับไว้ที่ภาชนะ ถ้ามีการเปิดภาชนะที่ปิดไว้ เราจะรู้ได้ทันทีว่า เกิดการเปิดระหว่างทาง  เราก็จะตรวจสอบได้ว่า เปิดทำไม เพื่ออะไร แอบเอาไปทิ้งข้างทางหรือไม่  เมื่อถึงปลายทางก็ตรวจสอบ RFID ว่า กากของเสียถูกต้องตามที่ระบุไหม เรียกว่าทุกกระบวนการจะมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ มาติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด การลักลอบทิ้งกากของเสียก็จะทำได้ยากมากขึ้น

อีกเรื่องหนึ่ง คือ นอกจากจะเอา RFID มากำกับการขนย้ายกากของเสียแล้ว เมื่อมีการขนย้ายกากของเสียไปเพื่อทำลาย ที่ปลายทาง บริษัทผู้รับบำบัดมีความพร้อมเพียงพอที่จะกำจัดกากของเสียหรือไม่  ปัจจุบันเตาเผาของเสียอันตรายมีอยู่ที่เดียว คือที่ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน)  ซึ่งสามารถรองรับกากของเสียได้ 80 ตันต่อวัน แต่ปัจจุบันกากของเสียอันตรายมาอยู่ปีละ 2.5 ล้านตัน แต่เตาเผารองรับได้เพียง 200,000 ตัน หรือประมาณ 10% แล้วกากของเสียที่เหลือทั้งหมดไปอยู่ที่ไหนบ้าง

ตอนนี้กรมฯได้รับงบประมาณมาศึกษาเรื่องเตาเผากากของเสีย ว่าควรจะต้องมีเตาเผาเพิ่มหรือไม่ ขนาดของเตาเผาควรเป็นเท่าไร ที่ตั้งควรอยู่ที่ไหน เพื่อให้สามารถรองรับกากของเสียได้อย่างเหมาะสม ซึ่งถ้าไม่มีการเพิ่มเตาเผากากของเสีย ปัญหาในส่วนนี้ก็จะไม่มีวันหมดไป

ในด้านโรงงานบำบัดกากของเสีย ก็ต้องมีการพิจารณากันใหม่ เราต้องนำข้อมูลของแต่ละโรงมาพิจารณากันใหม่ว่า แต่ละแห่งอยู่ที่ไหนกันบ้าง รับบำบัดกากของเสียอะไรบ้าง โรงไหนมีศักยภาพในการบำบัดได้จริง และบำบัดกากของเสียประเภทไหนได้บ้าง ถ้าไม่มีความสามารถในการบำบัด กรมจะไม่รับรองโรงงานบำบัดเหล่านั้น  และเมื่อกากของเสียมาบำบัดที่โรงงานแล้ว มีกากของเสียเหลือจากกระบวนการบำบัดหรือไม่ ถ้ามี กากของเสียเหล่านั้นไปที่ใดต่อ ซึ่งการตรวจโรงงานบำบัดทั้งหมดเป็นภารกิจที่สำคัญในปีนี้

ที่ผ่านมา กรมเจอปัญหากากของเสียในหลายกรณี บางที่เป็นบ่อดินลูกรัง พอขุดหน้าดินไปขายแล้ว ก็เปิดหลุมให้ใช้ทิ้งกากของเสียพอเต็มหลุมก็กลบด้วยดิน ปัญหานี้เจอเยอะมากและเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลในท้องที่ด้วย ในช่วง 10 เดือนที่ผมเข้ามารับตำแหน่ง ผมติดตามตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีทีมเฉพาะกิจเข้าไปดูในพื้นที่ร่วมกับ DSI  และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทำให้โรงงานเริ่มกลัวมากขึ้น การทำผิดมีน้อยลง

ส่วนกากของเสียที่ไม่อันตราย เราก็มีแผนในการจัดการให้ลดน้อยลง ภายใต้หลักการ 3R (Reduce Re-Use Recycle) ซึ่งกากของเสียในกลุ่มนี้เช่น เศษไม้ ก็สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ หรือนำไปเป็นปุ๋ยได้ ทำให้ปริมาณกากของเสียลดลง

ภารกิจที่ 2 การทำ ECO Industrial Town เป็นภารกิจเพื่อเป็นทางออกในการตั้งโรงงาน เพราะวันนี้ ไปตั้งโรงงานที่ไหนก็มีปัญหาการอยู่ร่วมกับชุมชน ผมเลยมีแนวคิดในการพัฒนาเขตประกอบการ สวนอุตสาหกรรม และชุมชนโรงงานขึ้น  เพื่อให้ชุมชนกับโรงงานอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข เหมือนอย่างกรณีของโรงงาน IRPC ที่ จ.ระยอง ที่ชุมชนกับโรงงานอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข  ซึ่งเราอยากเห็นแนวคิดนี้ กระจายไปยังโรงงานอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่ง 4-5 ปีที่ผ่านมาเราก็พยายามผลักดันแนวคิดนี้ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งในปี 2557 นี้เราได้งบประมาณส่วนหนึ่ง จึงเริ่มทำแผนแม่บทของการสร้าง ECO Industrial Town โดยเริ่มจังหวัดนำร่อง 15 จังหวัด ที่เป็นเขตโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ ระยอง ปราจีนบุรี ปทุมธานี ชลบุรี สระบุรี อยุธยา ฯลฯ  ซึ่งจังหวัดเหล่านี้มีการกระจุกตัวของโรงงานค่อนข้างมาก โอกาสที่ชุมชนกับโรงงานกระทบกระทั่งกันมีเยอะ

ภารกิจที่ 3 การทำ Industrial Zoning ที่ผ่านมามีการพูดถึงโซนนิ่งภาคเกษตรกันเยอะ แต่อุตสาหกรรมไม่ค่อยพูดถึง แต่วันนี้เราจะหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก โดยจะพิจารณาศักยภาพของแต่ละพื้นที่จะทำ Zoning ว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ระบบ Logistic เป็นอย่างไร อยู่ใกล้ท่าเรือไหม  มีถนนเพียงพอหรือไม่ รวมถึงการพิจารณาถึงวัตถุดิบในการผลิตว่า มีวัตถุดิบในบริเวณ Zoning หรือเปล่า ติดข้อกำหนดในเรื่องผังเมืองหรือไม่ วันนี้เราต้องเข้าไปดูแต่ละจังหวัด ว่ามีความเหมาะสม และความพร้อมในการประกอบอุตสาหกรรมอะไรบ้าง เช่น สมุทรปราการบอกว่า มีโรงงานเต็มพื้นที่แล้ว แต่ยังสามารถตั้งโรงงานอื่นๆ ได้ไหม เช่น โรงงานน้ำแข็ง อู่ซ่อมรถยนต์ หรือบางพื้นที่ยังรองรับอุตสาหกรรมสนับสนุนได้เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบโซลารูฟ ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะทำไมได้ เพราะติดผังเมือง อันนี้เราต้องไปคุยกับเขา  เราก็จะเห็นภาพรวมว่าจังหวัดไหนลงทุนโรงงานอะไรได้บ้าง

ในเรื่อง Zoning นี้เราจะเน้นใน 2 ส่วนคือ

1.จังหวัดที่มีอัตราความหนาแน่นของโรงงานสูง เช่น สมุทรปราการ ระยอง ชลบุรี เราต้องเข้าไปดูว่าจังหวัดเหล่านั้น มีขีดความสามารถในการผลิตอะไร ตัวอย่างเช่น ระยอง ชลบุรี เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ โรงงานผลิตชิ้นส่วนก็ต้องมาตั้งอยู่ที่นี่  เพราะอยู่ไกลก็ไม่คุ้มค่าขนส่ง  เมื่อโรงงานเข้าไปอยู่กันเยอะก็ต้องดูแลเรื่องผลกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่ควบคู่ไปด้วย

2.พื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโต เช่น ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ขอนแก่น กาญจนบุรี ปราจีนบุรี เป็นต้น เราต้องเขาไปดูแลจังหวัดเหล่านี้ว่า แต่ละจังหวัดควรเน้นอุตสาหกรรมอะไร เพื่อให้แต่ละจังหวัดมีอุตสาหกรรมอยู่อย่างเป็นระบบ และเกื้อหนุนกัน เราต้องเอาแผนผัง และ Logistic ของทั้ง 77 จังหวัดมาดูแล้ววางแผนให้ดี และถ้าอุตสาหกรรมสามารถรวมกลุ่มกันอยู่เป็น cluster ได้ เราก็อาจให้สิทธิประโยชน์ เช่น สิทธิประโยชน์ด้านการส่งเริมการลงทุนจาก BOI เพื่อเป็นแรงดึงดูดให้เข้ามาอยู่ร่วมกัน เป็นต้น

ภารกิจที่ 4 การลดและเลิกการใช้สารทำลายชั้นโอโซน เป็นภารกิจที่ต้องปฏิบัติตามพิธีสารมอนทริออล โดยเราจะเลิกใช้สารทำความเย็นแบบเก่าคือ R22 ที่มีผลกระทบต่อโอโซน และเริ่มใช้สารทำความเย็นแบบใหม่ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปีนี้เราก็เริ่มจำกัดการนำเข้าสาร R22 และจะกำหนดให้มีการนำเข้าลดลงเรื่อยๆ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็นตัวใหม่ เช่น R410A หรือ R32 ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนลงได้มาก แต่การจะใช้สารทำความเย็นตัวใหม่อย่างเช่น R32 เราก็ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องกับผู้ประกอบการด้วย เช่น สาร R32 เป็นสารที่ต้องระวังการติดไฟมากขึ้น ต้องให้ความรู้กับช่างแอร์ ในการติดตั้งและซ่อมบำรุงแอร์ว่าต้องปฏิบัติอย่างไรจึงมีความปลอดภัย

ภารกิจที่ 5 โครงการอนุรักษ์ลุ่มน้ำภายใต้โครงการ  “อุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักแม่น้ำ” ซึ่งเป็นโครงการที่กรมฯดำเนินการสนองพระราชเสาวณีของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์พระบรมราชินีนาถ สืบเนื่องจากพระองค์ทรงห่วงใยแม่น้ำจะถูกทำลาย กรมฯจึงรับสนองแนวพระราชเสาวณีในการตรวจ เข้มงวดกับโรงงานริมแม่น้ำโดยเฉพาะ ในแม่น้ำสายหลัก เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง  แม่น้ำบางประกง แม่น้ำท่าจีน ทะเลสาบสงขลา และลำตะคอง ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ตรวจกำกับโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียและดำเนินคดีไปแล้วหลายราย  นอกจากนี้ยังมีการทำกิจกรรมให้โรงงานและชุมชนริมน้ำมาใส่ใจ ไม่ปล่อยของเสียลงแม่น้ำ ซึ่งต่อไปกรมจะพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ให้โรงงานตั้งอยู่ห่างจากริมน้ำ 100-200เมตร เพื่อรักษาภูมิทัศน์ริมน้ำ และลดผลกระทบที่เกิดกับแหล่งน้ำด้วย นอกจากนี้เราจะกำหนดให้โรงงานริมน้ำต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสีย โดยการกำหนดคุณภาพของน้ำทิ้งให้สูงขึ้น และจำกัดการปล่อยน้ำทิ้งลงในแหล่งน้ำ

ภารกิจสุดท้าย ประกันความรับผิดชอบต่อชุมชน โดยกรมกำลังพิจารณาและออกข้อกำหนดให้โรงงานทุกแห่ง ต้องทำประกันความเสี่ยงอันเกิดจากโรงงานที่มีต่อชุมชนโดยรอบเพิ่มขึ้นจากเดิมที่โรงงานส่วนใหญ่จะทำประกันเฉพาะในส่วนของโรงงานเท่านั้น ประกันชุมชน จะเป็นการที่โรงงานทุกแห่งต้องทำประกันคุ้มครองความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชน เช่น ไฟไหม้ น้ำเสีย ปลาตาย กลิ่นเหม็นจากโรงงาน และผลกระทบต่อชุมชนในด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นประกันที่คล้ายกับแนวคิดของการประกันภัยบุคคลที่ 3 ของประกันรถยนต์ คือเมื่อเกิดเหตุแล้ว ประกันจะเข้ามารับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นความรับผิดชอบต่อชุมชน ทำให้ชาวบ้านมั่นใจได้ว่าเมื่อเกิดผลกระทบจากโรงงาน ประชาชนจะได้รับความคุ้มครอง ส่วนนี้จะทำให้ประชาชนมีความสบายใจ และพร้อมจะอยู่ร่วมกับโรงงานมากขึ้น  ขณะเดียวกันโรงงานก็จะมีความระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน มิเช่นนั้นก็จะต้องเสียค่าประกันที่แพงขึ้น

โดยเราจะผลักดันการทำประกันความรับผิดชอบต่อชุมชนนี้ เราจะเริ่ม Pilot Project กับโรงงานประเภทที่ 3 ที่ต้องขออนุญาตจำนวนประมาณ  77,000 โรงก่อนเป็นอันดับแรก โดยโรงงานทุกโรงที่จะผ่านการตรวจนั้น จะต้องมีประกันความรับผิดชอบต่อชุมชนทุกโรง

Business+   ผลลัพธ์ที่อยากเห็นจากการบริหารกรมโรงงานุตสาหกรรม

อธิบดี สิ่งที่อยากเห็นเป็นอันดับแรกคือ การทำงานของกรมฯ จะต้องโปร่งใส กระบวนการอนุมัติทุกกระบวนการ จะต้องมีความโปร่งใส และเป็นธรรม  จากนั้นจะปรับทัศคติของเจ้าหน้าที่ทุกคนในองค์กรเสียใหม่ โดยมองว่า ผู้ประกอบการทุกราย เป็นลูกค้าที่เราต้องให้บริการอย่างเต็มที่ ด้วยความเต็มใจ และสุดท้ายคือ การดูแลประชาชน เราจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อดูแลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด