ชัย โสภณพนิช พญามังกรเร้นกาย

พญามังกร ชัย โสภณพนิช ผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจประกันภัยของกลุ่มตระกูล “โสภณพนิช” ด้วยวัยเกือบ 70 ปี วันนี้ ชัย โสภณพนิช ยังคงขับเคลื่อน บมจ.กรุงเทพประกันภัย


เจ้าสัว ชิน โสภณพนิช พญามังกรธุรกิจในตำนาน เจ้าของอาณาจักรทางการเงินยักษ์ใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ ได้ฝากมรดกของตระกูล “โสภณพนิช” ให้ลูกทั้ง 7 คนช่วยดูแล ขาหนึ่งเป็นธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นเสาหลักของตระกูล ได้มอบหมายให้ ชาตรี โสภณพนิช หรือเจ้าสัวชาตรี ทายาทคนที่ 2 เป็นผู้ดูแล และบุกเบิกจนกลายเป็นอาณาจักรทางการเงินยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของไทย ปัจจุบัน เจ้าสัวชาตรี ได้วางมือจากการบริหาร และให้บุตรชายคนโต “ชาติศิริ โสภณพนิช” เป็นผู้ดูแลกิจการแทน

อีกขาหนึ่งเป็นธุรกิจประกันภัย ซึ่งเป็นอีกเสาหลักหนึ่งของตระกูล ที่มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ประกอบด้วย กรุงเทพประกันภัย กรุงเทพประกันชีวิต และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บริษัทในกลุ่มนี้เจ้าสัวชิน มอบหมายให้ ชัย โสภณพนิช ทายาทคนที่ 5 ที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอีกคนหนึ่งเป็นผู้ดูแล ซึ่งแท้จริงแล้ว ชัย โสภณพนิช ได้รับมอบหมายหน้าที่สำคัญในการดูแลอาณาจักรทางการเงินของตระกูล ก่อนที่ชาตรี จะก้าวขึ้นเป็นบอสใหญ่แห่งธนาคารกรุงเทพเสียอีก

โดยหลังจากที่เรียนจบสาขาบริหารธุรกิจ จากสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2511 ก็ได้ถูกวางตัวให้เข้ามาดูแลกิจการในกลุ่มประกันภัยของตระกูล โดยเข้ารับผิดชอบในการบริหารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ตั้งแต่ปี 2518 และนั่งบริหารกิจการของกรุงเทพประกันภัย และกรุงเทพประกันชีวิตในปี 2519 และภายหลังได้โยกกิจการของกรุงเทพประกันชีวิตให้น้องชายคนเล็ก เชิดชู โสภณพนิช เป็นผู้ดูแลกิจการต่อ กระทั่งปี 2554 โชน โสภณพนิข ทายาทของเชิดชู โสภณพนิช ผู้บริหารหนุ่มไฟแรง จึงได้ขึ้นแท่นบริหารกิจการของ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิตอย่างเต็มตัว

ส่วนเจ้าสัว ชัย โสภณพนิช นั้นดูแลกิจการของ บมจ.กรุงเทพประกันภัย และ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยมีทายาท 2 คน คือ ชวาล และเชาวนี ช่วยดูแลกิจการอยู่เคียงข้าง วันนี้ด้วยวัย 70 เจ้าสัวชัย ยังคงแข็งแรง ทุกย่างก้าวแฝงเร้นด้วยความหนักแน่น งามสง่า แลดูอ่อนกว่าวัยอย่างมาก

_MG_8765
และนับเป็นเกียรติที่ ชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันภัย เปิดโอกาสให้นิตยสาร Business+ ได้เข้าสัมภาษณ์ “พญามังกรเร้นกาย” ที่เริ่มวางมือหลักจากการบริหารกิจการ และออกมาดูภาพรวมของธุรกิจ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือการดูแลเรื่องการลงทุนของ บมจ.กรุงเทพประกันภัย และสามารถนำพา บมจ.กรุงเทพประกันภัย ฝ่าฟันวิกฤตมหาอุทกภัยในปี 2554 มาได้อย่างแข็งแกร่ง พร้อมผลประกอบการที่เป็นบวก

กู้วิกฤตน้ำท่วม พลิกขาดทุนเป็นกำไร

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 นั้น มหันภัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อน้ำเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ถึง 9 แห่ง ส่งผลให้ธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งแน่นอนว่า ความเสียหายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้น ถูกผลักภาระมาที่บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยให้กับบริษัทเหล่านั้น และบมจ.กรุงเทพประกันภัย ก็เป็นหนึ่งในบริษัทได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น

บมจ.กรุงเทพประกันภัย รายงานผลประกอบการไปยังตลาดหลักทรัพย์ว่า ณ สิ้นปี 2554 นั้น บริษัทมีผลประกอบการที่เป็นบวก โดยมีกำไรรวมอยู่ที่ 403 ล้านบาท ลดลงจากปี 2553 ที่มีกำไรที่ 1,667 ล้านบาท ซึ่งกำไรที่เกิดขึ้นในปี 2554 นั้นเกิดขึ้นจากผลกำไรจากการลงทุนมูลค่า 1,593 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาสำรองไว้เพื่อชดเชยความเสียหายให้กับลูกค้า ขณะที่ผลประกอบการของธุรกิจหลักของบริษัทนั้น ทำให้บริษัทมีกำไรอยู่ที่ 443 ล้านบาท

ส่วนในปี 2555 นั้น บริษัทยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลขาดทุนจากการดำเนินกิจการถึง 2,234 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรจากการลงทุนทั้งสิ้น 2,941 ล้านบาท ทำให้ผลการดำเนินงานโดยรวมมีกำไรที่ 707 ล้านบาท

ซึ่งผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในปี 2554-2555 ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกตินั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทตัดขายหุ้นที่ถือไว้บางส่วนออกไปในตลาด เพื่อนำกำไรที่ได้มาสนับสนุนผลประกอบการของบริษัทที่ขาดทุนจากการรับประกันภัยที่เกิดขึ้น

ชัย โสภณพนิช ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ช่วงปี 2554-2555 เรามีผลขาดทุนมาก จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ จึงต้องขายหุ้นที่ถือไว้บางส่วนออกมา เพื่อเอากำไรมาจ่ายคืนให้กับผู้เอาประกันที่ธุรกิจได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ดูเหมือนว่าผลประกอบการจะมีกำไรเยอะ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าดูในรายละเอียดจะพบว่า ผลการดำเนินงานของธุรกิจมีผลขาดทุนกว่า 2,200 ล้านบาท

Value Investor Guru

การขายหุ้นบางส่วนอออกมาในช่วงปี 2553 และ ปี 2554 เป็นการทำกำไรจากการลงทุนในรูปแบบหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองและแนวคิดในการลงทุนของ บมจ.กรุงเทพประกันภัย ที่มีรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย และมีการลงทุนระยะยาวในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ทั้งในรูปของเงินปันผล และ Capital Gain ซึ่งผลกำไรกว่า 700% นั้นไม่ใช่เกิดขึ้นจากการลงทุนข้ามวัน แต่เกิดจากการลงทุนระยะยาวในรูปแบบ Value Investor

“โดยปกติ การลงทุนของบริษัทจะเป็นการลงทุนระยะยาว เรียกว่าเป็นการลงทุนและถือเพื่อรับดอกผลมาใช้จ่ายคืนให้กับผู้เอาประกัน ซึ่งปกติแล้วบริษัทจะมีกำไรจาก 2 ส่วน คือกำไรจากการรับประกันภัย และกำไรจากการลงทุน แต่เนื่องจากในปี 2553 กับ 2554 เราได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ผลประกอบการจากธุรกิจรับประกันภัยติดลบ จึงขายหุ้นเพื่อนำเงินบางส่วนมาชดเชยให้กับการประกันภัย ซึ่งการลงทุนของ บมจ.กรุงเทพประกันภัยนั้น เราลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง และมีกำไรมาตลอดทุกปี ยกเว้นในปี 2543 ที่มีผลขาดทุนบ้าง แต่นอกนั้นเราก็กำไรมาโดยตลอด และมูลค่าของหุ้นเมื่อเทียบกับราคาทุนแล้ว แทบทุกตัวเรามีผลต่างของราคาต้นทุนกับราคาตลาดค่อนข้างมาก”

จากข้อมูลที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ไว้ พบว่า ณ สิ้นไตรมาส 3 บมจ.กรุงเทพประกันภัย มีกำไรจากผลต่างของเงินลงทุนและมุลค่าตามราคาตลาดในบริษัท 3 แห่ง ได้แก่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต และบมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ รวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 16,088 ล้านบาท หรือมีกำไรจาก Capital Gain อยู่ที่ 760% โดย บมจ.กรุงเทพประกันภัย ถือหุ้นใน บมจ.ธนาคารกรุงเทพประมาณ 1.791% ถือหุ้นใน บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 14.62% และถือหุ้นใน บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต 4.65%

ชัย เล่าให้ฟังว่าแนวคิดของการประกันภัยนั้น เป็นการรับประกันภัยให้กับลูกค้า แล้วให้ความคุ้มครองเขาตามสัญญา เช่น รับประกันมา 1 ปี ก็ต้องคุ้มครองเขา 365 วัน ส่วนเงินรับประกันที่เราได้มาจากลูกค้านั้น เราก็ต้องตั้งสำรองไว้ เพื่อคุ้มครองลูกค้าในอนาคต ส่วนที่เหลือจากการตั้งสำรอง และจ่ายเคลมจึงนำไปลงทุน ฉะนั้นเราจึงลงทุนเฉพาะส่วนหนึ่งที่ได้จากการรับประกันภัย ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว เราลงทุนได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของเงินรับประกัน เพราะอีกครึ่งหนึ่งเราต้องสำรองไว้ตามกฎของ คปภ. นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินกองทุนของบริษัทและกำไรสะสม ที่สามารถนำไปลงทุนได้ ซึ่งจากข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 3/2556 บริษัทมีเงินลงทุนรวมอยู่ที่ประมาณ 32,345 ล้านบาท โดยเงินลงทุนจำนวนนี้ เป็นเงินทุนที่ประมาณ 15,165 ล้านบาทเท่านั้น

โมเดลธุรกิจประกันภัย ทำกำไรได้ 2 ทาง

จากผลจากทุนของบริษัทประกันภัยส่วนใหญ่ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย และพบว่า ธุรกิจประกันภัยของไทยส่วนใหญ่ มีรายได้มาจาก  2 ช่องทาง คือ รายได้จากธุรกิจการรับประกันภัย และรายได้จากการลงทุน ซึ่งประกันภัยแต่ละกลุ่มก็มีสัดส่วนรายได้จากทั้งสองทางแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้วบริษัทประกันภัยของไทย จะมีกำไรจากการรับประกันภัยน้อยกว่ากำไรจากการลงทุน จึงมีความกังวลว่า ถ้าสภาวะการลงทุนไม่ดีอย่างในปัจจุบัน จะมีผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจหรือไม่

เรื่องนี้ ชัย โสภณพนิช ให้สัมภาษณ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ธุรกิจประกันภัย มีกำไรได้จาก 2 ช่องทาง คือ กำไรจากการทำธุรกิจและกำไรจากการลงทุน ซึ่งตามหลักการแล้วธุรกิจประกันภัยควรจะต้องมีกำไรจากทั้ง 2 ช่องทาง แต่เนื่องจากจำนวนของบริษัทประกันภัยที่มีมากถึง 67-68 บริษัท ทำให้ตลาดเกิดการแข่งขันกันมาก บริษัทที่คิดเบี้ยประกันแพงอาจจะถูกอีกบริษัทแย่งลูกค้าได้ จึงเกิดภาวะที่บริษัทประกันยอมที่จะมีรายได้จากการประกันภัยเพียงเล็กน้อย หรือบางรายยอมขาดทุนจากการรับประกันภัย เพื่อให้มีรายได้เข้ามา และนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลกำไร

“รูปแบบที่ประกันภัยไทยทำส่วนใหญ่นั้น ฝรั่งเรียก Cash Flow Underwriting คือ การรับประกันภัยเพื่อเงินหมุนเวียน และหวังว่าเงินที่ได้รับมาจะนำไปลงทุนให้งอกเงย ในส่วนของธุรกิจประกันภัยก็หวังให้มีกำไรเพียงเล็กน้อย หรือยอมขาดทุนนิดหน่อยได้ไม่เป็นไร แต่ผลขาดทุนต้องไม่มากกว่ากำไรจากการลงทุนที่ได้รับ ซึ่งรูปแบบของการประกันภัยในต่างประเทศก็เป็นลักษณะเดียวกัน คือ มีกำไรจากการรับประกันภัยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

แต่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย ไม่ใช่ยึดรูปแบบนี้ในการทำธุรกิจ เราตั้งอยู่บนหลักการว่า การประกันภัยต้องมีกำไร ถ้างานไหนไม่มีกำไรเราก็เลือกไม่รับงานนั้น เพราะ บมจ.กรุงเทพประกันภัย มีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนและค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับบริษัทขนาดกลางและเล็กอยู่ประมาณ 5-10% เมื่อรับงานประกันภัยจะมีความได้เปรียบโดยขนาดอยู่แล้ว

ประกันภัยจำเป็นต้องปรับตัว

ปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทประกันภัยอยู่ที่ 67-68 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งชัยเห็นว่าเป็นจำนวนที่มากเกินไป

“บริษัทประกันภัยของไทย เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมากเกินไป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐ ตั้งแต่ก่อนที่ต้องการให้ธุรกิจประกันภัยมีการแข่งขันกันอย่างเสรี จึงให้ใบอนุญาตกับบริษัทประกันภัยเป็นจำนวนมาก โดยหวังว่า เมื่อมีบริษัทมาก ก็จะเกิดการแข่งขันกันเองตามกลไกของตลาด แต่ผลที่เกิดขึ้นเป็นตรงกันข้าม กลายเป็นบริษัทประกันขนาดกลางและเล็กไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ เพราะมีต้นทุนที่แตกต่างกัน อีกด้านหนึ่ง ถ้าบริษัทประกันภัยขนาดเล็กต้องการทำธุรกิจมากขึ้น ก็ต้องเพิ่มขนาดของเงินกองทุนให้สูงขึ้น เช่น ต้องมีเงินกองทุน 30 ล้านบาท บริษัทประกันภัยจึงเลือกที่จะไม่ลงทุนเพิ่มเพื่อขยายขนาดเงินกองทุน แต่เลือกทำธุรกิจแบบพออยู่ได้ มีกำไรเพียงเล็กน้อย

“บางครั้งเป็นความจำเป็นของบริษัทประกันขนาดเล็ก เขาเองก็ไม่อยากสร้างให้ธุรกิจใหญ่โต เพราะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อให้มีเงินกองทุนมากขึ้น และเมื่อบริษัทใหญ่ขึ้นแล้ว ก็ต้องมีวิธีการหารายได้ให้มากขึ้น เพื่อให้เพียงพอหล่อเลี้ยงธุรกิจ จึงต้องลงทุนเพิ่มเพื่อขยายธุรกิจ ลงทุนขยายเครือข่าย เพื่อให้รับงานได้มากขึ้น สุดท้ายจะได้งานมา ก็ยังต้องตัดราคาขายเพื่อแย่งงานกับคู่แข่งในตลาด ทำไปทำมาอาจจะยิ่งขาดทุนมากกว่าเดิม บริษัทประกันขนาดเล็กส่วนหนึ่ง จึงเลือกอยู่เฉยๆ แบบไม่เจ็บตัวดีกว่า”

แต่เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 อาจจะมีผลให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ธุรกิจประกันจึงต้องปรับตัวรับกับการแข่งขันที่อาจจะรุนแรงขึ้นได้

AEC, Free Trade แรงส่งประกันปรับตัว

สิ่งหนึ่งที่ธุรกิจประกันเป็นห่วง คือ ธุรกิจประกันภัยจะได้รับผลกระทบอย่างไร เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และจะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้

ชัย โสภณพนิช เล่าถึงเรื่องนี้ว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเปิดในปี 2558 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยไม่มากนัก เพราะปัจจุบันแต่ละประเทศในอาเซียนก็มีการตั้งกำแพงเอาไว้แทบทั้งนั้น นั่นคือ บริษัทประกันภัยจะยังไม่สามารถทำธุรกิจข้ามชายแดนได้ ถ้าต้องการทำธุรกิจในประเทศใด ก็จำเป็นจะต้องจดทะเบียนในประเทศนั้นก่อน ซึ่งแน่นอนว่า การไปจดทะเบียนใหม่ก็ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ต้องมีการตั้งบริษัทใหม่ ต้องมีการตั้งสำรองกองทุนใหม่ ต้องมีการสร้างช่องทางการจำหน่ายใหม่ เรียกว่าต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด

ขณะเดียวกันปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยจากต่างประเทศเข้าทำธุรกิจในประเทศไทยแล้ว 14-15 บริษัท ฉะนั้นบริษัทประกันภัยที่จะเข้ามาใหม่ต้องคิดหนักว่า จะต้องลงทุนเท่าไร จะต้องมีเงินกองทุนขั้นต่ำเท่าไร และเงินลงทุนจะคุ้มค่าหรือไม่เมื่อเทียบกับงานที่เขาจะได้รับ ซึ่งเมื่อประเมินดูแล้ว การเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทประกันภัยที่มีอยู่ดูจะง่ายกว่า

“AEC อาจจะมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมประกันภัยไม่มากนัก แต่การเปิดเสรีภาคการเงินที่จะมีขึ้นมาปี 2020 อาจจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบมากกว่า เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมประกันภัยของไทย ยังมีการกำหนดพิกัดขันต่ำในการรับประกันภัยรถยนต์ และประกันอัคคีภัยอยู่ โดยภาครัฐระบุว่า เพื่อปกป้องผู้บริโภคไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการแข่งขัน เพราะภาครัฐกลัวว่า หากไม่กำหนดพิกัดที่เหมาะสมแล้ว อาจจะเกิดการแข่งขันตัดราคากันจนมีผลกระทบให้ธุรกิจมีผลขาดทุน และสุดท้ายจะมีผลต่อผู้บริโภค ซึ่งการตั้งพิกัดนั้น ต่างประเทศมองว่าทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เสรี ฉะนั้นในปี 2020 พิกัดตรงนี้ต้องยกเลิกแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม ชัย โสภณพนิช ได้เสนอทางออกไว้ว่า ภาครัฐเองควรยกเลิกการกำหนดพิกัดขั้นต่ำกับการรับทำประกันภัย เพื่อปล่อยให้เกิดการแข่งขันเสรีที่แท้จริง ซึ่งแน่นอนว่าในระยะแรกๆ อาจจะเกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น มีการตัดราคากันจนส่งผลให้บริษัทประกันภัยขาดทุนได้ แต่ภาครัฐเองก็สามารถป้องกันผลกระทบได้ โดยการกำหนดให้บริษัทประกันภัยตั้งสำรองเงินกองทุนให้สูงขึ้น เมื่อเกิดผลขาดทุนก็สามารถนำเงินกองทุนมาชดเชยคืนให้กับผู้เอาประกันได้ ทำให้ช่วยแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะแรกของการเปิดเสรี หลังจากนั้นเชื่อว่าระบบจะเริ่มมีการปรับตัว จนเกิดระดับราคาที่เหมาะสม และเกิดการแข่งขันเสรีอย่างแท้จริง

“อย่างไรเสียการแข่งขันเสรีจะต้องเกิดขึ้น ฉะนั้นเราต้องมามองว่า อุตสาหกรรมประกันภัยมีความพร้อมหรือยัง วันนี้ถ้าเรายกเลิกพิกัด เรามีความพร้อมหรือไม่ มีบุคลากรเพียงพอในการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยหรือไม่ว่า กระดาษแผ่นนี้มีมูลค่าเท่าไร 10 บาทขาดทุนไหม หรือมีกำไร ถ้ามีความพร้อมแล้วการเปิดเสรีก็เป็นสิ่งจำเป็น และระยะแรกของการปรับตัวอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง เช่น อังกฤษใช้เวลา 50 ปีในการเปิดเสรีจนอยู่ตัว หรือญี่ปุ่นเองก็ใช้เวลา 20 ปี โดยในช่วง 3-4 ปีแรกอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบ อาจจะมีบริษัทประกันภัยบางแห่งที่ต้องปิดตัวไปบ้าง แต่ก็ต้องปรับตัวไปเรื่อย ปรับให้เข้าที่เข้าทาง ผ่านขั้นตอนการเรียนรู้ ที่สำคัญคือ ภาครัฐต้องกำหนดให้แต่ละบริษัทมีขนาดเงินทุนที่มากพอสมควร เพื่อการันตีว่าถ้าบริษัทเกิดล้มละลาย ผู้บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบ

เคล็ดลับลงทุนต้องมองไกล

สำหรับเคล็ดลับในการบริหารพอร์ตการลงทุนของธุรกิจประกันภัยให้มีกำไรที่มากขึ้นนั้น ชัย โสภณพนิช เล่าว่าก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า แม้เบี้ยรับของธุรกิจประกันภัยจะเป็นแบบปีต่อปี แต่ส่วนใหญ่แล้วถ้าเรามีการบริหารธุรกิจที่ดี และถูกต้องลูกค้าจะคงใช้บริการกับเราอย่างต่อเรื่อง ฉะนั้นเบี้ยรับอาจจะเป็นปีต่อปี แต่มีการต่ออายุไปเรื่อยๆ เราก็จะบริหารการลงทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งในมุมของ บมจ.กรุงเทพประกันภัยแล้ว การลงทุนจะต้องเน้นที่การลงทุนระยะยาว 5 ปีขึ้นไปผลตอบแทนโดยรวมอาจจะไม่มากนัก และการลงทุนของเราส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งก่อนลงทุนเราจะมีการเลือกดูแล้วว่าเป็นธุรกิจที่ดีมีอนาคต และประมาณ 70% เราลงทุนกับบริษัทในกลุ่มธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เรารู้ว่ามีศักยภาพที่ดีอยู่แล้ว

“ลงทุนแต่ละครั้งต้องมองระยะยาว 5 ปี และถ้าบริษัทไม่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐาน เราก็จะถือระยะยาวต่อไป เพื่อกินดอกผล แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ เราก็อาจจะตัดขายออกไปบ้าง แต่ในส่วนของบริษัทในเครือเราก็ยังถือไว้เช่นเดิม และวิธีการเลือกลงทุนเราจะมีการกำหนดผลตอบแทนไว้ เช่น ภายใน 1 ปีจะต้องมีผลกำไร 20% ถ้าลงทุนแล้วเกิดมีการเปลี่ยนแปลงราคาลดลงไม่เกิน 10% เราต้องกล้ารับส่วนที่ขาดทุนนั้น แต่โดยรวมแล้ว 1-2 ปี จะต้องมีรายได้กลับไปที่ 20% อันนี้ถือกว่าโอเค และที่สำคัญคือ การลงทุนต้องไม่ Trading เด็ดขาด และส่วนที่ลงทุนในหุ้นนั้น ในธุรกิจของ บมจ.กรุงเทพประกันภัยนั้น มีเพียงส่วนน้อยที่ลงทุนในหุ้นระยะ 1-2 ปี เพราะส่วนใหญ่แล้วเราถือยาว”

ส่วนในแง่มุมของการบริหารพอร์ตโดยรวมนั้น ชัย โสภณพนิช เล่าว่า ในการจัดสรรพอร์ตนั้น ก่อนอื่นเลยต้องดูอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร ถ้าใกล้เคียวกันก็ซื้อพันธบัตรให้มากขึ้น แต่โดยทั่วไปถ้าฝากธนาคารสูงกว่าก็ฝากธนาคาร โดยดอกเบี้ยเงินฝากส่วนใหญ่จะฝากระยะสั้นไม่เกิน 12 เดือน ส่วนพันธบัตรจะซื้อระยะเวลาประมาณ 3 ปี นอกจากนี้ก็จะมีเงินให้กู้ยืมที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

สำหรับการลงทุนในหุ้น นั้น ชัย โสภณพนิช กล่าวว่า การลงทุนในหุ้นช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเราลงทุนไม่มาก เพราะราคาปรับขึ้นมาสูงแล้ว ชณะเดียวกันก็ต้องขายหุ้นบางส่วนออกมาเพื่อนำรายได้มาชดเชยกับผลขาดทุนจากกาดำเนินธุรกิจประกันภัยอีกด้วย ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังรอดูจังหวะในการลงทุนอยู่ซึ่งเชื่อว่า ดัชนีที่ต่ำกว่า 1300 จุดเป็นระดับที่น่าลงทุนแล้ว

ส่วนมุมมองในการลงทุนนั้น ชัย โสภณพนิช กล่าวว่า สถานการณ์ของการเมืองยังไม่จบง่ายๆ ฉะนั้นหลักทรัพย์ที่เลือกลงทุนต้องให้ผลตอบแทนในรูปปันผลที่สูง ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจน้อย  ซึ่งปัจจุบันที่เราดู เช่น อาหารรวมทั้งส่งออกท่องเที่ยวยังดีอยู่ ธุรกิจบริการ เช่น โรงพยาบาลก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจ อีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจคือ อาหาร เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรคนก็ยังต้องกินอยู่ อีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจคือ พลังงานพื้นฐาน อาทิ ไฟฟ้า ประปา ซึ่งไม่ได้รับผลจากการเมืองเช่นกัน อีกภาคธุรกิจที่น่าสนใจคือ โทรคมนาคม และขนส่งก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

ศรันย์ทัศน์ ตั้งคุณานนท์