นวัตกรรมเปลี่ยนโลก (2)

ภาพจาก smh และ businesskorea

ตอนจบของบทความ ‘นวัตกรรมเปลี่ยนโลก’ โดย แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ กับเรื่องราว ‘นวัตกรรม’ ที่อาจไม่ต้องอาศัยการคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ขึ้นมาทั้งหมด แต่อาศัยการสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแรง จนกระทั่งสร้างความยั่งยืนให้กับผลิตภัณฑ์ได้

กลยุทธ์ดังกล่าว มีให้เห็นในเกือบทุกแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น iPhone 6S ที่มีการเปลี่ยนแปลงจาก iPhone 6 รุ่นเดิมไม่มาก แต่กลับสร้างยอดขายได้ถล่มทลาย และ Samsung ที่เราเห็นความแตกต่างของรุ่นใหม่กับรุ่นเก่าไม่มากนัก ยกตัวอย่าง Galaxy S5, S6 หรือ Note 4, Note 5 แต่ก็สร้างยอดขายให้กับรุ่นใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา เพราะผู้บริโภครู้สึกว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้ว เพื่อให้ทันกับกระแสเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว 

นั่นเป็นเพราะการสร้างนวัตกรรมอย่างยั่งยืน (Sustaining Innovation) ด้วยการเพิ่มเติมคุณสมบัติให้กับผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ตลอดเวลา เพื่อกดดันให้สินค้าเดิมที่มีกลายเป็นรุ่นเก่า เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์รุ่นล่าสุดเป็นประจำทุกปีหรือทุก ๆ 2 ปี

ขณะที่นวัตกรรมอีกรูปแบบ คือ Efficiency Innovation ที่ผลลัพธ์ของนวัตกรรมอาจไม่ได้สะท้อนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ แต่สร้างความแตกต่างให้รับรู้ รวมถึงการบริหารจัดการเพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้บริโภค

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในอดีต คือ นวัตกรรมในการผลิตของโตโยต้าที่บุกเข้าตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 ไม่หวั่นเจ้าตลาดเดิมที่ปักหลักอยู่ในดีทรอยต์ จนถูกขนานนามว่าเป็นมหานครแห่งยานยนต์นั้น มีความพร้อมสูงกว่าหลายร้อยหลายพันเท่า

โรงงานผลิตรถยนต์ในเมืองดีทรอยส์ สหรัฐอเมริกา ภาพจาก bloomberg.
โรงงานผลิตรถยนต์ในเมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา ภาพจาก bloomberg.

ด้วยความที่อเมริกาเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก จนผู้ผลิตรถสัญชาติอเมริกันล้วนเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่ที่ไม่มีใครกล้าต่อกรด้วย ดังนั้น การบุกตลาดของโตโยต้าจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นการแข่งกันที่ตัวผลิตภัณฑ์ เห็นได้ว่ารถยนต์จากญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีรูปลักษณ์โดนใจคนอเมริกันที่ชอบรถยนต์ขนาดใหญ่เป็นหลัก

ท่ามกลางความเสียเปรียบนานาประการ โตโยต้าใช้นวัตกรรมการผลิตของตัวเอง เร่งกระบวนการการผลิตรถยนต์จากเดิมที่รถอเมริกันใช้เวลา 60 วัน เพื่อประกอบรถยนต์ 1 คัน แต่โตโยต้าปรับกระบวนการผลิตทั้งหมด ลดเวลาเหลือเพียงไม่เกิน 3 วันเท่านั้น

ผลของนวัตกรรมนี้ ทำให้โตโยต้าไม่เพียงได้เปรียบในแง่พลังการผลิต แต่ยังรวมถึงด้านฐานะการเงิน เพราะเวลาที่ประหยัดได้ ก็เท่ากับดอกเบี้ยที่ประหยัดตามไปด้วยหลายสิบเท่า แถมยังตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้เร็วกว่าด้วย

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เราจะพบว่า ทุกวันนี้ดีทรอยต์กลายเป็นเมืองร้างและมีอาชญากรรมเกิดขึ้นมากมาย แม้คู่แข่งสัญชาติอเมริกันที่ไม่เคยมองเห็นโตโยต้าอยู่ในสายตา แต่มาวันนี้ต้องพากันปิดตัวลง และจำต้องเปิดทางให้โตโยต้าก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่

ในเมื่อนวัตกรรมไม่ได้มีเส้นทางการสร้างเพียงแค่หนทางเดียว จะเลือกเส้นทางไหนที่เหมาะสมกับตัวเราที่สุด นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้บริหารต้องขบคิดให้ดี เพราะการแข่งขันที่เปลี่ยนไปจะบังคับให้เราต้องเลือกหนทางที่ดีที่สุดเท่านั้น

Jack_Min_Intanate
ผู้เขียน : แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ