ปลัดฯ ท่องเที่ยว ย้ำ ความปลอดภัยนักท่องเที่ยวต้องมาอันดับ 1

ปลัดฯ ท่องเที่ยว ย้ำ ! สร้างความเชื่อมั่นและทัศนคติที่ดีต่อการท่องเที่ยว “ความปลอดภัยนักท่องเที่ยวต้องอันดับ 1”

ประเทศไทยนับว่าเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จำนวน 29.88 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 5.10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.58 ในปี 2559 (มกราคม-กรกฎาคม) มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จำนวน 19.54 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 11.87 โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ส่วนประเทศที่สร้างรายได้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน รัสเซีย และมาเลเซีย”

 

การที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือปัญหาเรื่องความปลอดภัย ซึ่งหลายภาคส่วนต่างพยายามออกมาตราการเตือนภัยและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้ข้อมูลเตือนภัยด้านการท่องเที่ยวและให้คำแนะนำในการป้องกันภัย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ช่องทางการร้องเรียน ร้องทุกข์ การเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากภัยต่างๆ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในเรื่องการดำเนินคดีเมื่อนักท่องเที่ยวต้องขึ้นศาล

 

และในปี 2559 นี้กองมาตรฐานและกำกับความปลอดภัยนักท่องเที่ยว กระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ป.กก.) ได้จัดเสวนาเกี่ยวกับมาตราการความปลอดภัยของนักม่องเที่ยวใน 4 เมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต พร้อมทั้งตีพิมพ์ แผ่นพับประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเตือนภัยนักท่องเที่ยว และอำนาจหน้าที่ของกองมาตรฐานฯ จำนวน 9 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น รัสเซีย ฝรั่งเศส สเปนและเยอรมัน

 

พร้อมทั้งเฝ้าระวังติดตามปัญหาการหลอกลวง ข่มขู่ หรือการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก เพื่อรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ แก้ไขปัญหา และดูแลช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเมื่อประสบเหตุ ซึ่งปัจจุบันมี 16 ศูนย์ ใน 14 จังหวัด และในกรุงเทพฯ มีบุคลากรปฏิบัติงานทั้งหมด 188 คน หากต้องการร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่ Call Center (สุวรรณภูมิ) +66 2134 4077 เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง