“ทักษะที่บูรณาการได้” คือทางรอดของโลกการศึกษาไทยยุคดิจิทัล

วันนี้ โลกการเรียนรู้ไม่ได้ถูกตีกรอบแค่ในห้องเรียนอีกต่อไป ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวล้ำ เราสามารถจะฟังเลคเชอร์ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยระดับโลกอยู่ที่บ้านโดยไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนเมืองนอกกันได้แล้ว

อีกทั้งใบปริญญาที่เคยเป็นดั่งใบเบิกทางสู่การทำงานในบริษัทชั้นนำ ก็อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับโลกยุคใหม่อีกเช่นกัน นั่นทำให้โลกการศึกษาจึงต้องหา “ทางออก” และ “ปรับเปลี่ยน” อย่างรวดเร็วก่อนจะถูกคลื่นสึนามิซัดถล่มจนล่มสลาย

โดยภายในงานสัมมนา Digital Workforce ในหัวข้อ Digital Skill & Futute Jobs ได้หยิบยกประเด็นการปรับตัวของมหาวิทยาลัยขึ้นมาถกเถียงกันอย่างเข้มข้น โดย ผศ.ดร.อนุพงศ์ อวิรุทธา หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้แชร์ความคิดเห็นว่า องค์ประกอบสำคัญที่จะผลักดันให้ระบบการศึกษาไทยอยู่รอดในโลกดิจิทัลคือ ทักษะที่สามารถบูรณาการได้ โดยเฉพาะกระบวนการคิด เพราะระบบการศึกษาในโลกดิจิทัล ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่การเป็นปลาใหญ่หรือปลาเล็ก ใครฉลาดหรือเก่งกว่า แต่อยู่ที่การเป็นปลาที่ว่ายเร็ว

 

เขาย้ำด้วยว่า การมี knowledge เพียงอย่างเดียวไม่พอในโลกการศึกษายุคใหม่ เพราะ knowledge เป็นแค่องค์ประกอบพื้นฐาน แต่โลกยุคใหม่ต้องผสมผสานการเรียนรู้ในหลายศาสตร์เข้าด้วยกันจนกลายเป็น skill และ skill นี่แหละ จะเป็นตัวหล่อหลอมกระบวนการคิดใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

 

“ความน่ากลัวคือ ถ้าเรามีรายได้จากอาชีพๆ เดียว อะไรจะเป็นตัวบอกว่าเราจะหนีจากการล่มสลายของ disrution ได้ ซึ่งทักษะที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่ก้าวแรกจะเป็นตัวหล่อหลอมให้เราอยู่รอดได้”

 

ผศ.ดร.อนุพงศ์ บอกด้วยว่า แม้ระบบการศึกษาไทยจะถูกเทคโนโลยีไล่ล่า แต่หน้าที่หลักของทุกมหาวิทยาลัยยังมุ่งผลิตคนป้อนระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีคุณภาพ โดยสิ่งสำคัญนับจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะผู้เรียนให้มีมากกว่าหนึ่งอย่างมากขึ้นเพราะเป็นตัวที่จะสร้างความได้เปรียบในโลกการทำงาน

 

สำหรับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยศรีปทุมนั้น ผู้เรียนจะเรียนข้ามหลักสูตรกันได้ และเน้นกระบวนการคิดมากขึ้น โดยเด็กจะได้รับโจทย์จริงเพื่อฝึกคิดและแก้ปัญหาในมิติต่างๆ ซึ่งจะทำให้เด็กมีคุณภาพและออกไปสู่ตลาดแรงงานอย่างมี ประสิทธิภาพ

ทั้งยังสร้างเวทีให้นักศึกษาได้ต่อยอดความคิดโดยไม่มีต้นทุน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองผิดลองถูกและทดลองความกล้า

 

เขาย้ำท้ายด้วยว่า นอกจากการสร้างคนให้มี knowledge และมี skill สร้างอาชีพแล้ว อีกสิ่งสำคัญในโลกการศึกษายุคดิจิทัล ต้องส่งเสริมเด็กให้มีคุณธรรมจริยธรรมต่อสังคมด้วย ควรมีความยับยั้งอารมณ์ สิ่งใดควรแชร์ ไม่ควรแชร์ เพราะการโพสต์เป็นเรื่องง่าย แต่การลบโพสต์นั้นยาก

 

แน่นอนว่า การ “เปลี่ยน” ระบบการศึกษาไทยเป็นเรื่องที่ยาก แต่เขาเชื่อว่าทุกมหาวิทยาลัยทำได้ แต่สำหรับเขาแล้ว ผลลัพธ์ไม่สำคัญเท่ากับวิธีการ และวิธีคิดที่ถูกต้องด้วย จึงจะเกิดการอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน