ทฤษฎีแม่ค้าถั่วต้ม กับภาพรวมเศรษฐกิจไทย

ทฤษฎีแม่ค้าถั่วต้ม กับภาพรวมเศรษฐกิจไทย

ที่ผ่านมา คนไทยคุ้นชินกับดัชนีวัดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยแบบบ้านๆ หรือรากหญ้า เปรียบเทียบกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือมาม่ามาโดยตลอด หมายความว่า ถ้าจะดูสภาพเศรษฐกิจไทยเติบโตหรือไม่ ให้ดูการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ทฤษฎีแม่ค้าถั่วต้ม

มีสถิติบ่งชี้ว่า ถ้าปีใดเศรษฐกิจดี หรือดีมากๆ อัตราบริโภคจากการซื้อมาม่า จะส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตเติบโตด้วยตัวเลข 2 หลัก แต่ตัวเลขล่าสุดผู้ผลิตมาม่าบอกว่า ยอดขายมาม่าโตเพียง 1% มาม่า 1 ซอง ราคา 5-6 บาท คนทานก็อิ่มได้ 1 มื้อ ดัชนีมาม่าจึงเป็นคำเปรียบเปรยได้ดีมาโดยตลอด แต่จากนี้ พวกเราอาจมีดัชนีใหม่ขึ้นมาอีก 1 ตัว นั่นคือ ดัชนีถั่วต้ม

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เป็นผู้ให้นิยามทฤษฎีแม่ค้าถั่วต้ม เป็นการเปรียบเทียบกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน ว่า ทำไมตัวเลขการเติบโตของประเทศดี แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกอย่างนั้น

ทฤษฎีแม่ค้าถั่วต้ม

ในรายงานพิเศษที่ทางธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย สรุปออกมาว่า ทำไมคนไทยไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี ทั้งที่ตัวเลขการเติบโตของประเทศในไตรมาส 2 ขยายตัว 3.7% เทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน หรือ 1.3% เทียบไตรมาสต่อไตรมาส

ดร.อมรเทพ บอกอย่างชัดเจนว่า วัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้ กระจุกตัวในเพียงบางกลุ่ม และกลุ่มคนระดับรากหญ้า ชะลอการใช้จ่าย ทางหนึ่งเก็บเงินไว้จ่ายหนี้ และเก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เพราะไม่แน่ว่าจะมีปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม หรือราคาพืชผลจะตกต่ำอีกไหม ขณะที่คนที่มีรายได้ระดับกลางในเมืองก็ตัดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก ดังกรณีถั่วต้ม

“ถามพ่อค้าแม่ค้าว่าขายดีไหม กลับได้รับคำตอบจากแม่ค้าขายถั่วต้มว่า ขายไม่ดี เพราะคนประหยัด แม้คนที่เดินส่วนมากจะเป็นมนุษย์เงินเดือนรายได้มั่นคง”

เป็นการโยนคำตอบไปให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาถึงปัญหาปากท้องได้เป็นอย่างดี แค่ถั่วต้มราคาคร่าวๆ น่าจะตก 20 บาท คนทำงานยังเมิน พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่า เศรษฐกิจดีขึ้น แม้ตัวเลขทางกายภาพจะบอกว่า ดี ตอนนี้ประหยัดได้ ใช้ของเก่าก่อน เพื่อหวังออมเงินไว้เผื่อเวลาในอนาคตที่ไม่แน่นอน น่ากลัวครับ กับสถานการณ์แบบนี้ ….