ตามให้ทันโลก

อุตสาหกรรมไอทีต้องประสบกับภาวะตกต่ำมานานหลายปี นับตั้งแต่ยุคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กระแสโมบิลิตี้ที่คนทั่วโลกมุ่งสู่เทคโนโลยีพกพาอย่างสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ฯลฯ ทำให้ยักษ์ใหญ่ไอทีเจ้าเก่าหลายรายต้องมีอัตราการเติบโตติดลบตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา

นักวิจัยหลายสำนักเชื่อว่าอุตสาหกรรมไอทีนั้นก้าวผ่านจุดต่ำสุดมาตั้งแต่ปี 2016 ที่ผ่านมาแล้ว แนวโน้มจากนี้ไปจึงนับว่าน่าจะเติบโตขึ้นได้ไม่มากก็น้อย แต่กว่าจะถึงวันนี้ก็มีหลายแบรนด์ที่ไม่อาจฝ่ามรสุมเศรษฐกิจไปได้ จนต้องขายกิจการหรือยกธงขาวหันไปทำธุรกิจอื่นที่เชี่ยวชาญมากกว่าแทน ส่วนแบรนด์ที่เหลืออยู่ก็ใช่ว่าจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ส่งผลกระทบกับทุกอุตสาหกรรม และแนวโน้มทางด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่คาดคิดตามมามากมาย

งานวิจัยจาก Oxford Martin Programme on the Impacts of Future Technology จึงบ่งชี้ว่างานที่เราทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้เกือบครึ่งหนึ่งคือ 47% จะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น หุ่นยนต์ เข้ามาแทนที่ภายใน 20 ปีข้างหน้า แต่ในทางกลับกัน ก็จะมีอาชีพใหม่ ๆ ที่คนวันนี้ยังมองไม่ออกเกิดขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้าเช่นกัน การบริหารธุรกิจในทุกวันนี้จึงเป็นเรื่องยากยิ่ง เพราะเราต้องรับมือกับแนวโน้มที่ยังมองไม่เห็น และเทคโนโลยีที่ยังไม่เกิดในวันนี้

อย่างไรก็ตาม คนที่มองเห็นโอกาสแม้จะอยู่ท่ามกลางแนวโน้มที่ซบเซาก็ยังสามารถหาทางออกให้กับธุรกิจของตัวเองได้ เช่น อุตสาหกรรมไอทีที่ตกต่ำมานาน แต่อุตสาหกรรมเกมคอมพิวเตอร์กลับเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เกมคอมพิวเตอร์ยังส่งผลให้ธุรกิจไอทีที่เกี่ยวเนื่องกับเกมเติบโตตามไปด้วย ซึ่งเราจะเห็นได้จากคอมพิวเตอร์สำหรับเกมเมอร์ที่แม้จะมีราคาแพงแต่ก็ยังมียอดขายเติบโตได้ทุกปี เช่นเดียวกับระบบชำระเงินสำหรับนักเล่นเกมออนไลน์ก็สามารถทำรายได้และยอดสมาชิกเพิ่มขึ้นตลอด

ในขณะเดียวกัน สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีก็ยังขยายตัวอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเชื่อมต่อธุรกิจ การเชื่อมโยงกับสินค้าและบริการต่าง ๆ ของภาคธุรกิจ รวมถึงการใช้ Big Data วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าที่เก็บจากพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย

โดยเฉพาะด้านธนาคารและสถาบันการเงินที่มีสตาร์ทอัพเกิดใหม่ เราเรียกกันติดปากว่า FinTech เพราะทุกวันนี้อุตสาหกรรมการเงินกำลังพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Blockchain, Crowdfunding ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศจีนที่ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมกิจการได้ตั้งบริษัทใหม่เพื่อทำธุรกิจ Peer-to-Peer Lending ซึ่งเป็นรูปแบบการให้สินเชื่อโดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่านระบบของธนาคารและสถาบันการเงินเหมือนในอดีต การให้สินเชื่อในรูปแบบนี้แทบจะเป็นบริการที่ให้กับบุคคลต่อบุคคล โดยผ่านระบบหรือแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ให้สินเชื่อและผู้ขอสินเชื่อ โดยมีต้นทุนบริหารงานที่ต่ำมาก เพราะไม่ต้องแบกภาระในการบริหารมหาศาลเหมือนธนาคารและสถาบันการเงินทั่วไป

ธนาคารในจีนมองว่าระบบ Peer-to-Peer เช่นนี้ ท้ายที่สุดจะมีมูลค่าเงินสินเชื่อมากกว่าระบบสถาบันการเงินดั้งเดิม เพราะเป็นการดึงสินเชื่อนอกระบบให้เข้ามารวมอยู่ในรูปแบบนี้ได้โดยง่าย เมื่อบวกกับระบบ Big Data ที่วิเคราะห์รูปแบบการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้าก็ยิ่งทำให้บริหารความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น

หันกลับมาดูที่ภาพกว้างของอุตสาหกรรมไอทีในระดับโลกที่แม้จะซบเซา แต่เจ้าของบริษัทรายใหญ่กลับยังคงติดอันดับมหาเศรษฐีของโลกได้อย่างไม่กระทบกระเทือนใด ๆ บริษัทที่เราคุ้นชื่อกันมานาน เช่น ไมโครซอฟท์, ซาร่า, เบิร์กไชร์ ?แฮธาเวย์, คาร์ลอส สลิม เฮลู, อเมซอน, เฟซบุ๊ก, ออราเคิล และบลูมเบิร์ก จึงยังคงมั่งคั่งติดอันดับโลกไม่เปลี่ยนแปลง

ผู้อ่านหลายท่านอาจรู้จักบริษัทเกือบทั้งหมดใน 8 แห่งนี้ แต่ที่อาจไม่รู้ก็คือเจ้าของบริษัท 8 แห่งนี้มีทรัพย์สินรวมกันเท่ากับคนรายได้น้อยอีกครึ่งโลกรวมกัน โดยเฉพาะอันดับ 1 เจ้าของไมโครซอฟท์คือ บิล เกตส์ นั้นมีทรัพย์สินรวมถึง 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเขามีอายุยืนยาวไปถึง 84 ปี ทรัพย์สินของเขาจะเพิ่มพูนไปเรื่อย ๆ จนอาจทำให้เขาเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์โลกที่มีทรัพย์สินมูลค่าเกินกว่าหลักล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพียงแค่เขาบริหารทรัพย์สินให้เติบโตขึ้นปีละ 10% และมีผลกำไรประมาณ 10% ไปอีก 20 ปีข้างหน้า เขาก็จะพิชิตข้อจำกัดที่บุคคลเพียงคนเดียวมีทรัพย์สินรวมมากกว่างบประมาณของหลาย ๆ ประเทศในโลกนี้เลยทีเดียว

ย้อนกลับไปในอดีต ชื่อของบริษัทเหล่านี้อาจมีติดโผเพียง 2-3 บริษัทเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงจึงเอื้อโอกาสให้บริษัทเหล่านี้พร้อม ๆ กันในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งที่องค์ประกอบเหมาะสมเท่านั้น ยิ่งหากย้อนเวลากลับไปมาก ๆ เช่น 100 ปี เราจะไม่พบชื่อบริษัทเหล่านี้เลยในเวลานั้น

บริษัทที่ย้อนเวลากลับไปได้ยาวนานถึง 100 ปีและยังคงมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นอยู่จนปัจจุบันนี้จึงมีเพียง GE เพียงแห่งเดียวเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงเอื้อโอกาสให้กับทุกบริษัทที่ปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที เพราะโลกไม่เคยหยุดหมุน เราจึงเห็นการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ สร้างมหาเศรษฐีหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่นเดียวกับคนที่ปรับตัวตามโลกไม่ทันก็อาจต้องเพลี่ยงพล้ำหลุดกระแสการเปลี่ยนแปลงจนถึงขั้นต้องปิดกิจการไปก็มีจำนวนไม่แพ้กัน

ความสำเร็จที่เราเห็นจึงเปิดกว้างให้กับคนอื่นอยู่เสมอ การพร่ำบ่นว่าโลกไม่ยุติธรรมจึงเป็นเพียงข้ออ้างของคนที่ไม่คิดก้าวให้ทันโลก เพราะคนที่ปรับตัวได้และจับกระแสการเปลี่ยนแปลงจนสร้างความสำเร็จให้กับตัวเองและองค์กรก็มีมากมาย หลายคนอาจท้อแท้เพราะเพียรพยายามมาหลายครั้งหลายหนก็ยังทำไม่สำเร็จ ก็ต้องถามว่าเราพยายามมากพอแล้วหรือยัง เพราะยังมีคนที่พยายามมากกว่า เก่งกว่า และขยันเรียนรู้มากกว่า จนหาแนวทางสร้างความสำเร็จให้ตัวเองได้

สำหรับผู้บริหาร การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพียงมีวิสัยทัศน์และมีแผนงานที่ดีเท่านั้น แต่การนำทีมให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงก็ถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ต้องทำให้สำเร็จ เพราะหากผู้บริหารไปทางหนึ่ง แต่พนักงานอยากไปอีกทางหนึ่ง จนทำให้เกิดการแตกแยกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายตามมาในที่สุด

ในมุมหนึ่ง พนักงานเป็นกำลังสำคัญที่สร้างผลงานอันยอดเยี่ยมให้กับองค์กรได้ แต่ในอีกทางหนึ่งก็อาจสร้างผลกระทบใหญ่หลวงให้กับองค์กรได้เช่นกันหากทำงานผิดทิศทางที่ควรจะเป็น ผู้บริหารที่ดีจึงไม่ใช่แค่ขยัน แต่ต้องรู้จักบริหารคนและทรัพยากรให้เหมาะสม

คนที่พร้อมเรียนรู้เพื่ออยู่รอดจึงต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หากคุณไม่คิดจะเปลี่ยน สังคมรอบข้างก็จะเปลี่ยนคุณเอง หากคนรอบข้างยังไม่เปลี่ยนก็ยังมีอุตสาหกรรมที่จะปรับเปลี่ยนไปจนได้ และหากคุณยังไม่ยอมเปลี่ยนจริง ๆ คู่แข่งที่ซุ่มรออยู่ก็อาจได้จังหวะเข้ามาแทนที่เราในที่สุด