ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ : Business Man

คงคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี สำหรับ “ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” บุตรชายอดีตอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.สวัสดิ์ และคุณหญิงคัทลิยา อมรวิวัฒน์ ที่ผ่านมาแล้วหลายบทบาท จากพนักงานบริษัทเอกชน อดีตพิธีกร หรือแม้แต่นั่งบริหารงานสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือสสปน.

ทั้งหมดที่กล่าวมา เขา (ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์) บอกกับ Business+ ว่า ล้วนเป็นงานอดิเรก ที่ฝึกให้เขารู้จักคิด รู้จักวางแผน ปัจจุบัน ณัฐวุฒิผันตัวเองเต็มตัวในฐานะนักธุรกิจที่มีภาระบริหารบริษัทในเครือ 3 แห่ง กับคำเปิดใจครั้งแรกที่นี่ ที่เดียว

Business+: บทบาทล่าสุดของคุณคือ?
ณัฐวุฒิ : ผมเป็นนักธุรกิจเต็มตัว ซึ่งก่อนหน้านั้นทุกคนจะจำผมได้ในหลายบทบาท ทั้งอดีตพิธีกร หรือผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือสสปน.

แต่หากย้อนไปในช่วงเริ่มต้นหลังเรียนจบ ต้องบอกว่าผมเรียนจบทางวิศวะ งานทุกอย่างหรือธุรกิจของผมจะเกี่ยวข้องกับวิศวะทั้งหมดเลย แต่เราจะเน้นด้านนวัตกรรม (Innovation) เพื่อพัฒนาอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา เพราะมองว่า สินค้าหรือบริการที่มีนวัตกรรม สามารถจะต่อยอดไปได้มาก

“เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ผมก่อตั้ง 2 บริษัทขึ้นมา หนึ่งคือ บริษัท โฟคอล อินเทลลิเจนซ์ จำกัด ผู้ผลิตและให้บริการด้านระบบ ICT เป็นงานพัฒนาแอพพลิเคชันบนมือถือ โดยส่วนใหญ่จะทำธุรกิจแบบ B2B เน้นทำงานกับพาร์ตเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นราชการหรือเอกชน และเน้นเรื่อง App-Development

ส่วนอีกบริษัทคือ บริษัท ทีทูพี จำกัด ให้บริการด้านโซลูชัน รูปแบบบริการคือ เป็นกระเป๋าเงินออนไลน์ (E-Wallet) เป็นช่องทางรับชำระเงินต่างๆ โดยลูกค้าสามารถจ่ายเงินที่ร้านสะดวกซื้อกว่า 50,000 แห่ง ซึ่งส่วนนี้ ปัจจุบันมีลูกค้าราว 100 กว่าราย ยอดผลกำไรเดือนหนึ่งประมาณ 30 ล้านบาท

ส่วนบริษัท เทสโก้ จำกัด ก่อตั้งมา 35 ปี สถานะเป็นวิศวกรรมให้บริการ สถาปัตยกรรม วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม พร้อมออกแบบโลเกชันให้ลูกค้า เช่น ออกแบบรถไฟฟ้า รถใต้ดิน ตึกโรงงาน งานก่อสร้างออกแบบบ้านเป็นงานขนาดใหญ่

Business+: จากบทบาทที่หลากหลาย แล้วตัวตนแท้จริง ชอบทำงานแบบไหน

ณัฐวุฒิ : ผมทำธุรกิจด้านวิศวะมาตลอด16 ปี และผมทำเทคโนโลยีมาตลอด ตั้งแต่ผมเรียน งานพิธีกรเป็นแค่งาน Part time จริงๆ แล้ว ผมไม่เคยหยุดงานวิศวะ ผมทำงานวิศวะแบบธุรกิจ และสิ่งที่ผมชอบที่สุดก็เป็นเรื่องนวัตกรรม (Innovation) ผมสนุกที่จะได้คุยกับลูกค้า แล้วหาทางแก้ไขปัญหา หรือการคิดอะไรใหม่ๆ

Business+: ผลประกอบการทั้ง 3 ธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง

ณัฐวุฒิ : ผลประกอบการของโฟคอลซึ่งเป็นธุรกิจด้านไอทีจะดีกว่า แต่ผลกำไรก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโปรเจ็กต์หรือสถานการณ์ เช่น ช่วงเหตุการณ์ไม่สงบเทสโก้ก็เหนื่อยหน่อย เพราะมีงานภาครัฐเยอะ แต่งานไหนที่เดินหน้าอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร

Business+: ข้อดีของบจ.โฟคอล ต่างจากคู่แข่งในตลาดแอพพลิเคชันคืออะไร

ณัฐวุฒิ : ส่วนนี้ผมอาจจะบอกแทนคู่แข่งไม่ได้ว่า โฟคอลแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดอย่างไร แต่ผมรู้ว่าโฟคอลคิดว่าอะไรน่าสนใจ
อะไรทำได้แล้วก็เข้าไปมาคุย Co-Development กับพาร์ตเนอร์แบบตรงไปตรงมาเลย คือถ้าลูกค้าสนใจก็คุยกันว่าอยากทำอะไรร่วมกัน และเราอยากจะแก้ไขปัญหาของลูกค้าอย่างไร

Business+: ผลงานแอพพลิเคชันของโฟคอลมีอะไรบ้าง
ณัฐวุฒิ : โฟคอล อินเทลลิเจนซ์ เคยทำแอพพลิเคชันแนะนำเส้นทาง ข้อมูลร้านอาหาร รวมไปถึงประวัติของสถานที่ท่องเที่ยวมี 3 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติประวัติศาสตร์สุโขทัย, ศรีสัชนาลัย และที่จ.กำแพงเพชร ถือว่าเป็น Outdoor Navigation ที่ไม่เหมือน GPS

ยกตัวอย่างเช่น เวลาไปเที่ยวเจดีย์แล้วอยากทราบประวัติความเป็นมา ก็สามารถฟังประวัติศาสตร์ผ่านแอพพลิเคชันนี้ได้ทันที

ปัจจุบัน เรามีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และกำลังจะมีภาษาจีนออกมา ถือเป็นแอพพลิเคชันที่มีประโยชน์กับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

หรือล่าสุดได้ปิดดีลธุรกิจกับทางศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง Central World Navigation Application ซึ่งถือเป็น ApplicationIn-door Navigation แห่งแรกในประเทศไทย สามารถรองรับการใช้งานระบบปฏิบัติการ Android และ iOs เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเซนทรัลเวิลด์ มี 4 ฟังก์ชันหลัก คือ 1.อีเวนต์ (Event) มีข้อมูลกิจกรรมเด่นๆ ที่กำลังจัดหรือมีในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ที่ผู้ใช้งาน และนักชอปสามารถเข้าร่วมได้

2.โปรโมชัน (Promotions) เป็นข้อมูลการจัดโปรโมชันของแต่ละร้านค้า และให้นักชอปสามารถกดขอรหัส เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนลดสำหรับผู้ใช้แอพพลิเคชันนี้เท่านั้น

3.สโตร์ (Stores) จะเป็นการบอกรายชื่อข้อมูลร้านค้าที่มีทั้งหมดกว่า 700 ร้านค้าในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และ 4.แมพ (Map) เป็นแผนที่เพื่อใช้นำทางให้กับนักชอปในการเดินหาร้านค้าในเป้าหมายภายใน 15 วินาทีเพื่อให้รู้ว่าร้านที่สนใจตั้งอยู่ชั้นไหน

Business+: นานไหมกว่าจะได้โปรเจ็กต์นี้
ณัฐวุฒิ
: ประมาณ 6 เดือน เราก็เป็น Middle term เพราะ Platform ใช้เวลาทำไม่นานมาก แต่ต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูลห้างในเซ็นทรัล เพราะมี 700 กว่าร้าน ซึ่งค่อนข้างใช้เวลาเลยทีเดียว

Business+: ตั้งเป้ายอดคนดาวน์โหลดแอพพลิเคชันนี้เท่าไร
ณัฐวุฒิ : ผู้บริหารเซ็นทรัลบอกว่า อยากจะได้ราว 30,000 รายในปีแรก

Business+: ถามถึงแรงบันดาลใจ ต่อการผลิตแอพพลิเคชัน In-door Navigation
ณัฐวุฒิ
: อย่างที่เรียนไว้ตอนต้นโฟคอลเคยทำแอพพลิเคชันแนะนำเส้นทางข้อมูลต่างๆ ที่เป็น Outdoor Navigation จึงต่อยอดไอเดียไปว่า สามารถทำ In-door Navigation ได้หรือไม่

ทีมงานจึงคิดและเสนอไอเดียเข้ามา จนเราทำสำเร็จ จากนั้นได้นำมาเสนอทางผู้บริหารเซ็นทรัล และได้ทำงานร่วมกันแบบ Co-Development

Business+: ถือว่าเซ็นทรัลเป็นพาร์ตเนอร์รายสำคัญของเรา
ณัฐวุฒิ
: สถานะปัจจุบันเซ็นทรัลเป็นพาร์ตเนอร์ที่เราให้ความสำคัญสูงที่สุด แต่ก็ไม่ได้เป็นเอ็กซ์คลูซีฟเพียงรายเดียว ซึ่งเราเปิดตัวกับเซ็นทรัลเป็นที่แรก และยังไม่มีแพลนจะทำกับใคร ซึ่งเรามีแผนพัฒนาเพิ่มฟังก์ชันในแอพพลิเคชันนี้ไปเรื่อยๆ

อาทิ แผนเพิ่มฟังก์ชันหาที่จอดรถเพื่อให้ลูกค้าค้นหาที่จอดรถ หรือกลับไปที่จอดรถตัวเองได้ง่ายขึ้น หรือแม้แต่การพัฒนาระบบแนะนำเส้นทาง ระบบจราจรบอกให้ลูกค้ารู้ว่า ถนนเส้นไหนติดบ้างควรใช้ทางไหน

รวมถึงฟังก์ชันที่กำลังจะทำไม่เกิน 3 เดือนจากนี้ คือ เทคโนโลยี ไอดีบลูทูธ ซึ่งจะทำให้ห้างรู้ว่าผู้ใช้แอพพลิเคชันได้เข้ามาในพื้นที่ Central World แล้วสามารถปล่อยโปรโมชันและสถานที่ห้างร้านต่างๆ ให้กับลูกค้าได้

Business+: ตั้งเป้าอนาคตตัวเองอย่างไร กับบทบาทนักธุรกิจอย่างเต็มตัว
ณัฐวุฒิ
: ตอบยากนะ แน่นอนคงต้องอยากได้ลูกค้ามากๆ ทั้ง 3 บริษัท มีข้อดี จุดขายแตกต่างกันไป ซึ่งผมคงต้องลุยเต็มที่แน่นอน

ล้อมกรอบ 1

Profile

ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ เป็นบุตรชายอดีตอธิบดีกรมตำรวจพล.ต.อ.สวัสดิ์-คุณหญิงคัทลิยา อมรวิวัฒน์

-จบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์สาขาไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทจากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย (Georgia Institute of Technology) ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์อุตสาหการ และปริญญาโท MBA จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT)

-เคยทำงานที่ AIS และร่วมทำงานในบริษัท Booz Allen & Hamilton Consulting ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเขาร่วมวางแผนกลยุทธ์ให้กับหลายองค์กรชั้นนำ เช่น ปตท., ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ฮ่องกง

-หลังผ่านพ้นไป 2 ปี จึงเข้าเป็นหนึ่งใน Strategic Team ของทรูดูแลในส่วนของกลยุทธ์องค์กร และต่อมาได้พัฒนาบริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย Wi-Fi ออกมา

-ประสบการณ์การทำงานส่วนใหญ่ของณัฐวุฒิ ล้วนคลุกคลีกับงานวิศวะ แต่คนส่วนใหญ่จดจำเขาได้ในฐานะอดีตพิธีกรรายการเจาะใจ และตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารงานสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือสสปน.

ล้อมกรอบ 2

ผลประกอบการบริษัทในเครือที่มี ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร
หน่วย : ล้านบาท
ที่มา : บิสิเนส ออนไลน์

บริษัท เทสโก้ จำกัด                                                                           ปี

2555                    2554                  2553                    2552                   2551

ทุนจดทะเบียน                       5,000,000            5,000,000          5,000,000           5,000,000           5,000,000

สินทรัพย์                                                          
ที่ดิน+อาคาร                          3,377,031              5,316,551             6,297,546             5,573,957             7,532,504

รวมสินทรัพย์                       126,904,435         119,992,449        106,466,764        111,186,512           89,123,471

กำไร (ขาดทุน) สะสม            46,460,842           39,787,680          52,438,879          64,837,626          61,825,762

บริษัท ทีทูพี จำกัด                                                                               ปี

                                                                2555                      2554                 2553                 2552                 2551

ทุนจดทะเบียน                                       5,000,000              5,000,000

สินทรัพย์                      

เงินสดและเงินฝากสถาบันการเงิน       5,531,402                824,177

รวมสินทรัพย์                                         8,782,686              4,039,762

กำไร (ขาดทุน) สะสม                            -2,476,382            -1,285,502

บริษัท โฟคอล อินเทลลิเจนซ์ จำกัด                                                  ปี

2555                    2554                   2553                      2552                 2551

ทุนจดทะเบียน                                       100,000                 100,000              100,000                 100,000              100,000

รวมสินทรัพย์                                         371,695                   69,033                   71,033                   71,033                  79,033

กำไร (ขาดทุน) สะสม                            207,855                 -56,966                 -50,966                 -44,966               -38,966

วิทยา กิจชาญไพบูลย์