ชาติอาหรับแบน ‘กาตาร์’ กระทบไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้

คำสั่งแบนกาตาร์ของ 6 ชาติอาหรับและถูกขยายผลไปยังสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทวิตข้อความอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการคว่ำบาตรในครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า กาตาร์สนับสนุนผู้ก่อการร้าย

และแม้ผู้นำของกาตาร์จะปฎิเสธเสียงแข็งต่อท่าทีดังกล่าว พร้อมเชิญชวนให้เปิดโต๊ะเจรจา แต่ดูเหมือนว่า คำสั่งแบนกาตาร์จะเริ่มขยายผลมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นย่อมทำให้กาตาร์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ในทุกด้านที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา

แน่นอนว่า พลเมืองของกาตาร์และชาติอาหรับที่เดินทางเข้าออกผ่านพรมแดน หรือสนามบินโดฮา ที่เพิ่งสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปีที่ผ่านมาจะถูกปิดกั้นลง

พรมแดน ซึ่งหมายถึงทุกช่องทางจะถูกที่ปิดกั้นเสรีภาพ ทั้งทางบกและอากาศ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวและพลเมืองชาติอาหรับ จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างปกติสุข

หากจำกันได้ อาหรับสปริง เหตุการณ์ที่ลุกลามอย่างหนัก จนทำให้ผู้นำสุงสุด “ฮอสนี มูบารัก” ต้องก้าวลงจากตำแหน่ง จนถึงวันนี้ภารดรภาพ หรือความเป็นอยู่ของชาติอาหารับ ชาวโลกได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย

เช่นเดียวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ผลกระทบวงแคบที่เห็นได้ชัดเจนคือ พลเมืองกาตาร์แห่กันกักตุนอาหารเป็นจำนวนมาก และรัฐบาลกลางหลายๆ ประเทศออกคำสั่งให้พลเมืองของตนเองออกนอกพื้นที่โดยด่วน

นอกจากนี้ ผลพวงที่จะตามมาในแง่เศรษฐกิจ กาตาร์ย่อมได้รับผลกระทบในวงกว้างอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้

สนามบินที่จะร้างผู้คน หรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ยังไม่ได้มีการประเมินว่าความเสียหานจะขยายขอบข่ายไปไกลแค่ไหน

โดยภาคการท่องเที่ยวถือว่า จะเป็น Sector ที่ได้รับผลกระทบมากพอๆ กับการขาดแหล่งรายได้จากน้ำมัน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือข้อตกลงทางธุรกิจหลายอย่างกำลังถูกยกเลิก ซึ่งรวมถึงชาวกาตาร์ที่จะเดินทางไปประเทศไทยราว 30,000 คนต่อปี สำหรับกรณีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (ท่องเที่ยว+การรักษาพยาบาล)

จากการตรวจสอบล่าสุด พบว่า สายการบิน Qatar Airways มีเที่ยวบินตรงจากกรุงโดฮา มายังประเทศไทยทั้งหมด 46 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

มีเส้นทางบินจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1. กรุงโดฮา – กรุงเทพฯ จำนวน 4 เที่ยวบินต่อวัน 2. กรุงโดฮา – จังหวัดภูเก็ต จำนวน 2 เที่ยวบินต่อวัน และ 3. กรุงโดฮา – จังหวัดกระบี่ จำนวน 1 เที่ยวบินต่อวัน (ทำการบินเฉพาะวันจันทร์ อังคาร ศุกร์ และเสาร์) นี่ยนังไม่รวมถึงสายการบินอื่นๆ ที่ต้องจอดแวะเติมเชื่อเพลิง เพราะโดฮาคือ ฮับของการเดินทางในภูมิภาคตะวันออกกลาง

แน่นอนว่า ผลพวงระยะสั้นจากการถูกปิดน่านฟ้า ไม่ว่าจะไปต่อเครื่องเพื่อโดยสารไปยังยุโรป หรือชาติตะวันออกลาง แม้จะบอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์

แต่การมองลึก ๆ ย่อมชี้ให้เห็นว่า หากคำสั่งแบนกาตาร์ยืดยาวออกไปมากเท่าไร การตาร์ย่อมสูญเสียเพิ่มขึ้น

ต่อกรณีดังกล่าว สำหรับท่าทีรวมถึงผลกระทบต่อประเทศไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรในครั้งนี้ แต่ภาพรวมส่วนใหญ่ยังถือว่า สามารถบริหารจัดการได้

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับกาตาร์นั้น ข้อมูลจากสถานทูต ณ กรุงโดฮา ระบุในเว็บไซต์ว่า ความสัมพันธ์ด้านการเมือง ราชอาณาจักรไทยกับรัฐกาตาร์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2523

โดยฝ่ายไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา เมื่อปี พ.ศ. 2545 และต่อมา ฝ่ายกาตาร์ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตกาตาร์ประจำประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศตลอด 37 ปีที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่น

ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ทวิภาคีอันดีและมีความร่วมมือในกรอบการประชุมนานาชาติ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนตั้งแต่ระดับพระราชวงศ์ ผู้นำระดับสูง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไปจนถึงระดับประชาชน

นอกจากนี้ หากมองในมุมความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ จะพบว่า ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยกับกาตาร์ ลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 18.67

โดยตัวเลขการค้ารวมอยู่ที่ 96,579.91 ล้านบาท (2,728.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งฝ่ายไทยส่งออก 10,112.14 ล้านบาท (287.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และนำเข้า 86,467.77 ล้านบาท (2,441.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า

เนื่องจากการนำเข้าสินค้าพลังงานจากกาตาร์ อาทิ ก๊าซธรรมชาติชนิดเหลว (Liquefied Natural Gas – LNG) ตามสัญญาซื้อขายระยะยาว 20 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2558 ในจำนวน 2 ล้านตันต่อปี และปิโตรเคมี ในขณะที่สินค้าส่งออกของไทยเป็นผักสด ผลไม้ อาหารและผลไม้กระป๋อง เครื่องปรุงรส เครื่องดื่ม รถยนต์และอะไหล่ และเครื่องปรับอากาศ

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังกาตาร์ อาจยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากสินค้าไทย ส่วนใหญ่จะถูกส่งด้วยตู้บรรทุกสินค้า (container) ไปยังเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งมีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่ทันสมัย รวมทั้งมีขั้นตอนและกระบวนการนำเข้าที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยบริษัทต่าง ๆ ในเมืองดูไบจะอาศัยข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area – FTA) ของประเทศในคณะมนตรี

จากปัญหาคำสั่งแบนกาตาร์ในครั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นข้อกังวลมากกว่านั้นคือ ชุมชนไทยในกาตาร์ ซึ่งปัจจุบัน มีชาวไทยประกอบอาชีพและอาศัยอยู่ในกาตาร์ประมาณ 4,000 คน และส่วนใหญ่ทำงานให้แก่สายการบิน Qatar Airways ประมาณ 1,000 คน และอยู่ในภาคการก่อสร้างประมาณ 1,000 – 1,500 คน

ทั้งนี้ มีธุรกิจของคนไทย 2 ประเภทในกาตาร์ ได้แก่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium sized Enterprises – SMEs) เช่น ร้านอาหารไทย ร้านสปา และร้านนวด เป็นต้น และบริษัทในภาคการก่อสร้างอีก 2 แห่ง คือ (1) บริษัท TTCL รับงานก่อสร้างโครงการโรงกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ Ras Abu Fontas A2 และ A3 และ (2) บริษัท WEN Qatar ซึ่งเป็นบริษัทไทยที่มีหุ้นส่วนร่วมเป็นชาวกาตาร์ รับงานก่อสร้างในลักษณะ subcontractor ในการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน และการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์กาตาร์ (Qatar Museum)

คำสั่งแบนกาตาร์ ซึ่งมีประชากร 2.7 ล้านคน รัฐที่มีตำแหน่งตั้งอยู่แถบชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอาหรับ แน่นอนว่า จากนี้กาตาร์จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ส่วนผลกระทบต่อคนไทย ทางหนึ่งก็ต้องบอกว่า ใครจะรับได้มากหรือน้อยกว่ากันเท่านั้น