ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ Big Data

เมื่อ Big Data กลายเป็นคำฮิตติดปากประจำยุค เหมือนกับว่า ถ้าใครนำเสนอแผนงานแล้วไม่มีค่าว่า Big Data รวมอยู่ด้วยก็ดูจะเชยล้าสมัยไปแล้ว และแผนแม่บท ICT ของหน่วยราชการระดับกระทรวงบางแห่งก็มีระบุเรื่องนี้ไว้ แต่พอลงลึกในรายละเอียดจะพบว่า มีความเข้าใจที่ผิดพลาดอยู่หลายข้อด้วยกัน ลองมาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

 

 Big Data เป็นแนวคิดใหม่       …?
หลายคนเชื่อว่า Big Data เป็นแนวคิดใหม่ เพิ่งเริ่มพัฒนามาเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ความเชื่อเช่นนี้ส่งผลให้ผู้บริหารหลายท่านที่ระมัดระวังรอบคอบเรื่องการเลือกใช้เทคโนโลยี และยังจำได้ถึงกระแสเทคโนโลยีที่เคยฮือฮากันในอดีต แต่ตอนนี้ไม่มีใครพูดถึงกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Paperless Office หรือโทรศัพท์ Iridium ซึ่งอยู่ในภาวะ “รอดูไปก่อน” เพื่อทอดเวลาให้ Big Data ได้มีโอกาสพิสูจน์ความจำเป็นและความคุ้มค่ากับการลงทุน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว แนวคิดพื้นฐานของ Big Data คือการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากและหลากหลาย ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เลย วงการงานด้านวิทยาศาสตร์และสถิติ จำเป็นต้องใช้การวิเคราะห์เหล่านี้เป็นหลักมาหลายสิบปีแล้ว

แม้แต่คำว่า Big Data เองเริ่มถูกใช้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 เพียงแต่ว่า เทคโนโลยีและเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ ยังมีราคาสูงและจำกัดอยู่ในวงวิจัยแคบๆ ที่ได้รับทุนสนับสนุนและสามารถลงทุนกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ได้

การเกิดขึ้นของ Hadoop ซึ่งเป็นโครงการแบบเปิดเผยซอร์ส ประกอบกับความพร้อมของ Cloud Computing ทำให้เทคโนโลยีที่เคยจำกัดอยู่แต่เฉพาะในวงแคบ เริ่มแพร่ออกมาในวงการธุรกิจ

เริ่มจากกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ทางเทคโนโลยีอย่าง Google หรือ Amazon และแพร่หลายไปยังองค์กรอื่นๆ มากขึ้น จนปัจจุบันบริษัทเปิดใหม่ ก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี Big Data ได้ไม่ต่างจากองค์กรใหญ่ เกิดเทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ราคาถูกลง และมีองค์กรที่เริ่มได้รับประโยชน์จากการวิเคราะห์ Big Data ให้เห็น

ปัจจัยเหล่านั้น ส่งผลให้เกิดกระแสการพูดถึง Big Data กันอย่างกว้างขวางในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ บริการใหม่ๆ ขึ้นมากมาย จนผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่นๆ ที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง ยังอดไม่ได้ที่จะพ่วงโฆษณาไปด้วยว่า ของฉันก็เป็น Big Data ด้วยนะ พอไม่ให้ตกเทรนด์ ทำให้หลายคนคงจะเริ่มเอียนกับคำว่า Big Data และทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความคาดหวังที่ไม่ถูกต้องในข้อถัดไป …

 ภณเอก วราวิชญ์ ที่ปรึกษาด้าน Business Intelligence, twitter : @p_warawit

 —– ติดตามบทความทั้งหมดได้ที่ นิตยสาร Business+ July 2015 Issue 316 —-