ส่องเทรนด์อุตสาหกรรมความงาม 2017-2018

อุตสาหกรรมความงามยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองของโลก โดย 20 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5% ต่อปี และในปี 2560 นี้ ตลาดสินค้าความงามทั่วโลกจะมีมูลค่ารวมกว่า 9.3 ล้านล้านบาท

เมื่อมองกลับมายังในส่วนของประเทศไทย มูลค่าตลาดสินค้าความงามของปี 2560 อยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 60% และตลาดส่งออก 40% ด้านอาเซียนมีมูลค่าตลาดสินค้าความงามกว่า 500,000 ล้านบาทในปัจจุบัน และมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้น 3-6% ในแต่ละปี แน่นอนว่าในแต่ละปี เทรนด์ความงามจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และปี 2017-2018 นี้เทรนด์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมความงามของโลกประกอบด้วยอะไรบ้าง มาติดตามกันได้เลย

Water…The New Luxury

ในอนาคตโลกจะเผชิญกับวิกฤตการณ์น้ำ การอาบน้ำเล่นนาน ๆ การแช่ฟองสวย ๆ เป็นเรื่องที่ลืมไปได้เลย เพราะน้ำจะกลายเป็นทรัพยากรที่หาได้ยากและกลายเป็นวัตถุดิบที่มีราคาสูงไปโดยปริยาย ซึ่งผู้บริโภคในต่างประเทศในปัจจุบันกำลังตระหนักและตื่นตัวถึงปัญหาด้านการใช้น้ำแล้ว โดย 33% ของประชากรในสหราชอาณาจักรบอกว่ายอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ช่วยประหยัดน้ำ 27% อาบน้ำเร็วขึ้นและประหยัดน้ำมากขึ้น

เมื่อผู้บริโภคใส่ใจในเรื่องการประหยัดน้ำ แบรนด์ต่าง ๆ จึงต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน เริ่มจากการปรับสูตรของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็นสูตรใช้น้ำน้อยไปจนถึงไม่ต้องใช้น้ำเลย ยกอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวชนิดผงที่ต้องการน้ำเพียงเล็กน้อยเพื่อเปลี่ยนรูปสู่การเป็นครีมหรือโฟมสำหรับล้างหน้า นอกจากนี้ยังสามารถเห็นความนิยมในหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำน้อยลง เช่น Dry Shampoo สบู่ที่ไม่ต้องล้างออก และยาสีฟันที่ไม่ต้องล้าง เป็นต้น และสำหรับในยุคต่อไป คาดการณ์ว่าสินค้าความงามเกือบทั้งหมดจะพัฒนารูปแบบไปสู่การไม่ใช้น้ำอีกเลย

Gastronomia

จากกระแสนิยมรักสุขภาพและการใฝ่หาความเป็นธรรมชาติ 100% จากทั้งในอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ส่งผลให้ผู้บริโภคในปัจจุบันหันหลังให้สิ่งที่ผลิตขึ้นจากห้องแล็บ โดยเฉพาะกับเครื่องสำอาง ที่มีแนวโน้มว่าจะยิ่งถูกเพิกเฉยหรือลดความนิยมลงเรื่อย ๆ โดยผู้บริโภคได้เทความสนใจไปยังสิ่งใกล้ตัว สิ่งที่หาได้ตามธรรมชาติ หรือสิ่งที่อยู่ในห้องครัวของบ้านมาใช้ประโยชน์ในทางบำรุงสุขภาพและความงามกันมากขึ้น

จากผลสำรวจของ มินเทล (Mintel) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยผลิตภัณฑ์ ตลาดผู้บริโภค และสื่อ พบว่า 50% ของเพศชายในสหราชอาณาจักรเชื่อว่าผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าที่มีส่วนผสมและวัตถุดิบจากธรรมชาติให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเครื่องสำอางแบรนด์ใหญ่ที่ผลิตในห้องแล็บ และอีกกว่า 42% ของผู้บริโภคชาวสหราชอาณาจักรเชื่อว่าการซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติหรือผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกจะทำให้สุขภาพดีขึ้นและสภาพแวดล้อมของโลกดีขึ้นด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันกับผู้บริโภคชาวอิตาลีและสเปนอีก 48%

นำมาซึ่งความนิยมของเทรนด์ความงามที่เรียกเล่น ๆ ว่า “Kitchen-Beauty” ที่หยิบเอาวัตถุดิบต่าง ๆ ในครัวมาใช้สำหรับเสริมความงาม อย่างการมาส์กหน้าด้วยแตงกวาหรือมะเขือเทศ ซึ่งแบรนด์ต่าง ๆ ก็ขานรับความนิยมนี้ด้วยการผลิตส่วนผสมเพื่อความงามจากวัตถุดิบธรรมชาติออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น น้ำ ผง เจล ครีม เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปผสมหรือปรุงแต่งให้เป็นเครื่องสำอางบำรุงผิวได้อย่างง่าย ๆ ตามสูตรหรือความต้องการส่วนตัวในครัวที่บ้านของผู้บริโภค

ยกตัวอย่างเช่น ผงโกโก้ น้ำมันอาร์แกน สารสกัดจากเสาวรส พอเอามาคลุกรวมกันในชามสลัดที่บ้าน ก็จะได้มาส์กหน้าใสที่สามารถดีท็อกซ์สารพิษไปได้ในตัว โดยนอกจากจะเป็นการตอกย้ำถึงกระแสรักสุขภาพแล้ว ยังสามารถเห็นถึงการอยากมีส่วนร่วมหรือเป็นผู้กำหนดสูตรต่าง ๆ ของเครื่องสำอางได้เองอีกด้วย

Power Play
ไลฟ์สไตล์แบบคนยุคใหม่ที่เร่งรีบและทำกิจกรรมหลากหลาย ทำให้ปัญหากวนใจเรื่องผิวพรรณเปลี่ยนจากยุคขาวกระจ่างใจและต่อต้านริ้วรอย มาเป็นความกังวลเรื่องพลังงานและความสดใสของผิวแทน จึงทำให้ผู้บริโภคในยุคนี้เริ่มค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการให้เพิ่มพลังให้ผิว โดย 79% ของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรไม่ชอบความรู้สึกไร้เรี่ยวแรงเหนื่อยล้า และเป็นปัญหาสุขภาพอันดับ 2 ที่ชาวอเมริกันกังวลเช่นกัน

ในปัจจุบัน ผู้บริโภคไม่มีเส้นแบ่งระหว่างปัญหาด้านความงาม โดยผลงานวิจัยรายงานว่า 72% อยากทำให้ผิวมีสุขภาพดีขึ้นด้วยการนอนหลับที่ดีขึ้น 64% ต้องการทานอาหารอย่างสมดุลเพื่อลดน้ำที่ค้างอยู่ในผิวหนัง 59% ต้องการที่จะออกกำลังกายมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมองหาสินค้าและบริการทางความงามที่ตอบสนองเพื่อสุขภาพองค์รวมเพิ่มมากขึ้น

จากรายงานของมินเทล ระบุว่า ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้ามากกว่า 12% เพิ่มส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยเพิ่มพลังให้ผิว ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สำหรับดวงตาและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายอื่น ๆ เพิ่มมาเช่นกัน ผลงานวิจัยนี้ทำให้เห็นความต้องการของผู้บริโภคและโอกาสของแบรนด์ในอนาคตที่จะผลิตสินค้าในกลุ่ม Energy-Boosting มากขึ้น ในระดับที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เช่น ในปัจจุบันมีบางแบรนด์หันมาใช้ E-Pulse Technology ซึ่งมีที่มาจากการกระตุ้นผิวด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้พลังงานกระตุ้นให้ผิวเข้าสู่กระบวนการซ่อมแซมตัวเอง เป็นต้น

Digital Experience
เทคโนโลยีความงามทำให้ผู้บริโภครู้สึกได้ว่าตัวเองมีส่วนร่วมสำคัญในการจัดการกับความงามบนร่างกายตัวเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งผลงานวิจัยระบุว่า ผู้บริโภคชาวจีน 18% เป็นเจ้าของเทคโนโลยีความงามที่ทรงประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 13% จากปี 2014 นอกจากนี้กว่าครึ่ง (48%) ของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดในอังกฤษให้ความสนใจที่จะใช้แอพพลิเคชันที่สามารรถตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของสภาพผิวและจุดด่างดำต่าง ๆ จากนั้นจะมองหาแบรนด์ที่นำเสนอสินค้าและเครื่องมือความงามที่มีการทำงานที่มีส่วนผสมของเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบัน กว่า 30% ของผู้หญิงอเมริกาสนใจที่จะลองใช้สกินแคร์ที่มีเครื่องมือช่วยตรวจสภาพผิวพร้อมกันด้วย

ในอนาคต เครื่องมือความงามที่ช่วยผลักให้วิตามมินหรืออาหารผิวลงลึกไปได้มากกว่าชั้นผิว ซึ่งเครื่องมือและอุปกรณ์เหล่านี้จะค่อย ๆ แทรกซึมจากแล็บทดลอง จากคลินิกต่าง ๆ มาสู่พื้นที่จัดจำหน่ายสินค้าที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าความงามที่เหนือระดับกว่าเดิม

ทั้งนี้ มีรายงานว่า 64% ของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าความงามนั้น มีความสนใจกับอุปกรณ์ความงามที่สร้างการมีส่วนร่วม (Interactive) กับพวกเขา รวมถึงประสบการณ์ดิจิทัลที่เกิดขึ้นในสโตร์ เช่น Virtual Mirror, Virtual Reality Headsets และ Interactive Displays รวมถึงในซาลอนเช่นกัน 23% ของผู้หญิงในประเทศอังกฤษต้องการใช้บริการดูแลเส้นผมกับซาลอนที่มี Smart Mirror ที่สามารถแสดงภาพจำลองทรงผมและสีผม ที่เลือกให้เห็นก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริการจริง การพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ในยุคเทคโนโลยีเสมือนจริงนี้จะทำให้เราเห็นเครื่องมือต่าง ๆ อย่าง Virtual Mirror, Virtual Concierge Service รวมถึงประสบการณ์การจับจ่ายสินค้าความงามบนเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่นกัน

Kids Cosmetics

Kids Cosmetics
เมื่อความงามไม่ได้จำกัดอยู่แค่เครื่องสำอางสำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานอีกต่อไป เนื่องจากกระแสการดูแลตัวเองและการเอาใจใส่ในรูปลักษณ์ได้ส่งผลต่อความต้องการของเด็ก ๆ ในอเมริกา การวิจัยของมินเทล ระบุไว้ว่า เด็กอเมริกัน 80% ที่มีอายุระหว่าง 9-11 ขวบ ได้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ความงามที่ทำขึ้นมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะ เช่น ลิปมัน แป้งพัฟ โลชันที่มีกลิ่นหอม ฯลฯ

ทั้งนี้ เด็กวัยรุ่นอเมริกัน 80% ที่มีอายุระหว่าง 9-11 ขวบ จะนิยมใช้เมคอัพเพียงแค่บางอย่างเท่านั้น ส่วนเด็กวัยรุ่นที่อายุระหว่าง 12-14 ปีนั้น 54% นิยมใช้มาสคารา อายแชโดว์ อายไลเนอร์ และดินสอเขียนคิ้ว ข้อมูลจากการวิจัยยังระบุไว้อีกว่า วัยรุ่นอเมริกันในช่วงอายุ 12-14 ปี บอกว่าตัดสินใจใช้เครื่องสำอางตั้งแต่ยังเด็กเพราะทำให้พวกเธอรู้สึกมั่นใจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเครื่องสำอางหันมาใส่ใจในความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่นี้มากขึ้น

Real Influencer
เชื่อว่าเจ้าของแบรนด์หลาย ๆ แบรนด์ที่อยากทำการตลาดออนไลน์ ต้องสนใจหา Influencer หรือ Blogger มารีวิวสินค้าอยู่แน่ ๆ เพราะในปัจจุบันกลยุทธ์การใช้ Influencer รีวิวสินค้าหรือบริการได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ จนใคร ๆ ต้องจับตามอง ซึ่งจุดเด่นของการทำการตลาดผ่าน Influencer ก็คือการสื่อสารที่ดูเป็นธรรมชาติเหมือนไม่ใช่การโฆษณา ซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่าสื่อดั้งเดิม

ตามข้อมูลจาก Acumen Report พบว่าในกลุ่มผู้บริโภควัย 18-24 ปี มี 62% ที่คิดจะซื้อสินค้าที่มีคนดังใน YouTube โฆษณาให้ แต่มีเพียง 49% ที่จะซื้อสินค้าที่โฆษณาผ่านทีวีหรือภาพยนตร์ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากผู้ชมคลิป YouTube มองผู้ผลิตคลิปหรือ Influencer เป็นเหมือนเพื่อนที่เชื่อถือได้ ไม่ใช่เซเลบริตี้ที่เข้าไม่ถึง

เพราะความดังทำให้ Influencer ขายได้ และเพราะความดังเช่นกันที่เป็นจุดเปลี่ยนในยุค Influencer เพราะในอนาคตผู้บริโภคจะรู้ว่าคนดังเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์จากการรีวิว และเลิกเชื่อถือในที่สุด ขณะเดียวกันก็จะหันมาเชื่อ Influencer เฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักใกล้ตัว เพราะเชื่อว่าการรีวิวเหล่านั้นเกิดจากประสบการณ์ตรงจากการใช้งานจริงมากกว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อน ๆ พี่น้อง ใกล้ตัวของเราจึงกลายเป็น The Real Influencer ที่แท้จริง

 Blogger