ส่งออก 2560 พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 5 ปี คาดโต 1.8 %

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา การส่งออกไทยหดตัวต่อเนื่องซึ่งเกิดจากทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย (เช่น โครงสร้างการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทยยังปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสินค้าของโลก) และปัจจัยเชิงลบจากวัฏจักรขาลงของเศรษฐกิจโลกซึ่งฉุดรั้งการเติบโตของการส่งออกของไทย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2559 ปัจจัยเชิงลบจากวัฏจักรเศรษฐกิจขาลงของโลกได้เริ่มผ่อนคลาย และเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวทั้งในส่วนของราคาและปริมาณการค้า ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยในปี 2560 โดยการฟื้นตัวดังกล่าวจะกระจุกตัวอยู่ในบางภาคการผลิตและบางประเภทสินค้า

เศรษฐกิจโลกพลิกฟื้น

สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีให้เห็นจากทั้งในส่วนของราคาและปริมาณการค้าในปี 2559 โดยในส่วนของราคาสินค้า พบว่า ทั้งราคาสินค้าเกษตรและราคาสินค้าอุตสาหกรรมค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตภาคการเกษตรที่ออกมาน้อยกว่าคาด ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ และความต้องการสินค้าโลกที่ขยับเพิ่มขึ้น

ในส่วนของปริมาณความต้องการสินค้าก็มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยอาจพิจารณาสัญญาณการฟื้นตัวจาก

1) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Manager Index: PMI) ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ซึ่งพบว่า เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3 สะท้อนถึงความต้องการสินค้าไทยที่น่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

2) ดัชนีการค้าของประเทศในภูมิภาคเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์โลก

3) การปรับลดสินค้าคงคลังของประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับต้นๆ ของไทย อย่าง สหรัฐอเมริกาและจีนเริ่มชะลอตัวลง และน่าจะพลิกกลับมาปรับเพิ่มสินค้าคงคลังในอนาคต

ผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าส่งออก 100 อันดับแรกของไทยซึ่งมีมูลค่าส่งออกรวมกันสูงถึง 60.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด พบว่าในรอบ 9 เดือนแรกของปี สินค้าที่ได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศมีถึง 36 ประเภท เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่มีเพียง 24 ประเภท แสดงให้เห็นว่าการส่งออกไทยเริ่มได้รับผลดีจากการพลิกฟื้นของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่ได้ส่งผลทางบวกต่อทุกอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ทุกสินค้าในอุตสาหกรรมนั้น เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่น เช่น ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ยังคงฉุดรั้งการเติบโตและยังคงต้องอาศัยเวลาในการปรับตัว

แม้ว่าประเทศไทยจะยังคงประสบกับปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งฉุดรั้งการเติบโตของการส่งออก แต่การพลิกฟื้นของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นจะช่วยให้การส่งออกของไทยโดยรวมสามารถกลับมาเติบโตได้ โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่า การส่งออกในปี 2559 จะหดตัวเล็กน้อย ที่ 0.8% แต่จะพลิกกลับมาเติบโตได้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ในปี 2560 ที่ 1.8%

 รายงานโดย วิจัยกรุงศรี บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา