การศึกษาเพื่อไทยแลนด์ 4.0 Ep.3 หมดยุคของเนื้อหาความรู้ แต่เป็นยุคของการเรียนรู้ทักษะและวิธีคิด

นอกจากเนื้อหาความรู้จะล้าสมัยอย่างรวดเร็วแล้ว ยังหาได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ต แค่ Google สิ่งที่คุณอยากรู้ก็พบความรู้ในเรื่องนั้นๆ มหาศาล อ่านได้ไม่รู้จักจบสิ้น แตกต่างจากในอดีต ที่คนจบมหาวิทยาลัยผูกขาดความรู้ ครูบาอาจารย์ผูกขาดความรู้ ต้องฟังอาจารย์บรรยาย และจดเล็กเชอร์เก็บไว้บูชา เพราะหาจากที่อื่นไม่ได้

ดังนั้น ในยุคใหม่ที่ความรู้อยู่เต็มโลกออนไลน์ และต่อไปคงดาวน์โหลดให้หุ่นยนต์ใช้งานได้ด้วย สิ่งที่สำคัญกว่าเนื้อหาความรู้จึงเป็นเรื่องทักษะและวิธีคิดต่างหาก

ถ้าคุณเรียนกฎหมาย สิ่งสำคัญก็คือทักษะและวิธีคิดเกี่ยวกับกฎหมาย มากกว่าเนื้อหากฎหมาย เรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สิ่งสำคัญก็คือทักษะและวิธีคิดเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม มากกว่าเนื้อหาโปรแกรม ฯลฯ

ในโลกตะวันตกก็มีการถกเถียงกันว่า เรียนอะไรจึงจะเรียกว่ามีวิสัยทัศน์สำหรับโลกยุคใหม่ และจะไม่ถูกหุ่นยนต์แย่งงาน ซึ่งกลับมีหลายคนมองว่า วิชาที่อาจดูไร้ประโยชน์สำหรับบางคนอย่างปรัชญา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ กลับจะเป็นวิชาที่มีค่าในโลกยุคใหม่ ถ้าเรียนได้ดีและแตกฉานจริง เพราะวิชาเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานจริงๆ ที่หุ่นยนต์ไม่มีทางรู้หรือเข้าใจ ปรัชญาสอนวิธีคิดถกเถียงเชิงตรรกะ สังคมวิทยาสอนวิธีคิดและเข้าใจธรรมชาติของสังคม มานุษยวิทยาสอนวิธีคิดและเข้าใจธรรมชาติของวัฒนธรรม เป็นต้น

หลายคนชี้ว่า คนเก่งที่จบสาขาเหล่านี้อาจทำงานไม่ตรงสาย แต่ประสบความสำเร็จได้เพราะมีทักษะและวิธีคิดที่เฉียบคมและยืดหยุ่น นักธุรกิจที่โด่งดังหลายคนก็จบปรัชญา มีรายงานข่าวว่า บริษัทเทคโนโลยีและบริษัทให้คำปรึกษาธุรกิจในต่างประเทศก็นิยมจ้างบัณฑิตที่จบสาขาเหล่านี้จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ

เพราะฉะนั้น เพื่อจะรับมือกับโลกยุคใหม่ เรียนสาขาอะไร จึงไม่สำคัญเท่ากับเรียนด้วยความเข้าใจจนเชี่ยวชาญทักษะและวิธีคิด ไม่ใช่ท่องจำเนื้อหาในหนังสือ

ที่มา :อาร์ม ตั้งนิรันดร thaipublica