เมื่อหุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ การปฎิวัติอุตสาหกรรมหน้าใหม่ของจีน

ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนกลายเป็นโรงงานของโลกที่ผลิตสินค้าทุกชนิดในต้นทุนที่ถูก เนื่องจากจีนมีแรงงานราคาถูกจำนวนมาก แต่ยุคแรงงานราคาถูกกำลังจะหมดไป

ค่าแรงในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนคนสูงอายุ ทำให้นักลงทุนเริ่มย้ายโรงงานไปประเทศที่มีแรงงานราคาถูก ซึ่งเป็นวัฏจักรปรกติของโลกยุคโลกาภิวัฒน์

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของจีน ทำให้รัฐบาลกลางประกาศเลิกคุมกำเนิดประชากรด้วยนโยบายลูกคนเดียว และสนับสนุนให้ครอบครัวจีนมีลูก 2 คน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป แต่ปัญหาขาดแคลนแรงงานยังคงมีอยู่ในช่วงระหว่างรอเด็กโต โดยมีการคาดการณ์ว่าประชากรจีนที่อยู่ในวัยทำงานจะลดลงจาก 1,000 ล้านคนในปี พ.ศ. 2558 เหลือ 960 ล้านในปี พ.ศ. 2573 และ 800 ล้านคนในปี พ.ศ. 2593

นอกเหนือจากจำนวนแรงงานที่น้อยลงแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โรงงานของจีนมีปัญหาเรื่องแรงงานเพิ่มขึ้นทุกปี คือ คนจีนรุ่นใหม่ ไม่ต้องการทำงานในโรงงานเหมือนกับคนในรุ่นพ่อรุ่นแม่อีกต่อไป

“การเคลื่อนย้ายการลงทุนออกจากจีน ทำให้โรงงานจีนต้องหาทางออก เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าในราคาที่แข่งขันได้ต่อไป และคำตอบของอุตสาหกรรมจีน คือ การใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนแรงงานมนุษย์”

Financial Times รายงานว่า โรงงานในแถบชายทะเลตะวันออกนับพันแห่งของจีนหันมาใช้ระบบ Automation หรือหุ่นยนต์โรงงานกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล จนผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยหุ่นยนต์ที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน

รัฐบาลจีนเริ่มสนับสนุนให้โรงงานในประเทศจีนนำหุ่นยนต์โรงงานมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ทำให้จีนต้องนำเข้าหุ่นยนต์ทุกปีในปริมาณที่มากกว่าการนำเข้าของประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมนี ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ โดยตัวเลขจาก สหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (ไอเอฟอาร์) ระบุว่าภายในสิ้นปี 2559 จีนจะมีจำนวนหุ่นยนต์โรงงานมากกว่าประเทศญี่ปุ่น
Gudrun Litzenberger เลขาธิการไอเอฟอาร์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเยอรมนี กล่าวกับ Financial Times ว่า โรงงานจีนปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุค Automation ในระดับที่เร็วเป็นประวัติการณ์

จีนต้องการหุ่นยนต์โรงงานอีกมาก เพราะขณะนี้ประเทศจีนมีอัตราส่วนหุ่นยนต์ 36 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน ซึ่งยังน้อยกว่าโรงงานของเยอรมนีที่มีหุ่นยนต์ 292 ตัวต่อคนงาน 10,000 คน หรือที่ญี่ปุ่นมีหุ่นยนต์ 314 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน และเกาหลีใต้มีอัตราส่วนการใช้หุ่นยนต์โรงงานสูงสุดที่ 478 ตัวต่อคนงาน 10,000 คน

อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดของอุตสาหกรรมและปริมาณหุ่นยนต์จำนวนมากที่จีนต้องการ ทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของโลกแล้ว

ประธานาธิบดีจีน “สี จิ้น ผิง” แสดงปาฐกถาที่สถาบัน Chinese Academy of Sciences ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เรียกร้องให้อุตสาหกรรมจีนทำการปฏิวัติโดยใช้หุ่นยนต์โรงงาน ซึ่งจะทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของจีนและของโลก เนื่องจากจีนกลายเป็นตลาดหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

วิสัยทัศน์ของนายสีเป็นจริงอย่างรวดเร็ว เว็บไซต์ cnnmoney.com รายงานเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาโดยอ้างข้อมูลจากไอเอฟอาร์ว่า ในปี 2558 ตลาดหุ่นยนต์ในจีนจะมีขนาด 68,000 ตัวเพิ่มขึ้น 17% ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 4 ของตลาดโลกและใหญ่กว่าตลาดยุโรปทั้งตลาด

cnnmoney.com ระบุว่า บริษัทของจีนออกตามล่าหาซื้อกิจการต่างชาติที่มีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทั่วโลก โดยยกตัวอย่างการซื้อกิจการบริษัท Kuka ผู้ผลิตหุ่นยนต์ของเยอรมนี โดยบริษัท Midea ของจีน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหุ่นยนต์ในประเทศ

“ขณะนี้หุ่นยนต์จำนวน 2 ใน 3 ที่ขายในตลาดจีน เป็นการนำเข้าจากต่างชาติ แต่อนาคตจะมีการนำเข้าน้อยลง เนื่องจากบริษัทของจีนเริ่มผลิตหุ่นยนต์เองเพิ่มขึ้นทุกปี”

ตัวเลขจากไอเอฟอาร์ระบุว่า สัดส่วนตลาดของหุ่นยนต์ที่ผลิตในจีนเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 31% ในเวลาห่างกันแค่ 2 ปี

ตลาดหุ่นยนต์ของจีนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้คำกล่าวของนายสีที่ว่า การปฏิวัติหุ่นยนต์โรงงานในจีนจะทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมหุ่นยนต์โลกเป็นความจริง เนื่องจากความต้องการหุ่นยนต์ของจีนและประเทศอื่น ๆ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ทำให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์โลกโตในอัตราเร่งที่สูง

ไอเอฟอาร์ระบุว่ายอดขายหุ่นยนต์โรงงานทั่วโลกในปี พ.ศ. 2558 อยู่ที่ 248,000 ตัว เพิ่มขึ้น 12% (เทียบปี 2557) และคาดว่า ภายในปี พ.ศ. 2561 จะมีหุ่นยนต์ใช้งานตามโรงงานต่าง ๆ ทั่วโลกรวม 2.3 ล้านตัว หรือคิดเป็น 2 เท่า ในระยะเวลาเพียง 9 ปี

Financial Times ระบุว่า ธุรกิจการค้าหุ่นยนต์ในประเทศจีนทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยยกตัวอย่างนักธุรกิจรายหนึ่งที่มีชื่อว่า Liu Hui นักธุรกิจจีนในวัย 40 ปีที่เริ่มธุรกิจทำโรงงานผลิตพัดลมในปี พ.ศ. 2544 ที่เมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง ก่อนจะเปลี่ยนมาทำธุรกิจประกอบหุ่นยนต์โรงงานในปี พ.ศ. 2555 หลังพบว่า นี่คือโอกาสการเติบโตของธุรกิจนี้

นอกจาก Liu Hui แล้ว บริษัทใหญ่ของจีนเองเริ่มหันมาผลิตหุ่นยนต์โรงงานขายในประเทศ โดย Financial Times ยกตัวอย่างบริษัท Ningbo Techmation จากเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าพลาสติกรายใหญ่จากจีนได้ตัดสินใจตั้งบริษัทชื่อว่า E-Deodar เมื่อปลายปี พ.ศ. 2558 เพื่อผลิตหุ่นยนต์โรงงานขายในประเทศ

E-Deodar ซึ่งมีโรงงานอยู่ที่เมืองฝอซาน กล่าวได้ว่าเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์โรงงานที่เปิดราคาขายถูกกว่าหุ่นยนต์โรงงานอื่น ๆ ในโลกใบนี้ราว 20-30%

Zhang Honglei คือ ผู้จัดการฝ่ายเทคนิคของ E-Deodar ให้สัมภาษณ์ว่า ‘ผู้ผลิตหุ่นยนต์โรงงานระดับโลกที่เป็นคู่แข่งของเรา มีต้นทุนที่สูงกว่าและรู้จักตลาดและความต้องการของโรงงานท้องถิ่นน้อยกว่าเรา’

บทความใน Financial Times ระบุว่า ตลาดหุ่นยนต์ของโลกขยายตัวในอัตรา 17% ต่อปี โดยสำนักงานวิจัยเทคโนโลยีไอดีซีคาดว่าตลาดจะมีมูลค่า 135,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.86 ล้านล้านบาท) ภายในปี พ.ศ. 2562 โดยการขยายตัวส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีนและญี่ปุ่น ซึ่งในตลาดรวมนี้มีสัดส่วนของหุ่นยนต์โรงงานอยู่ที่ 69% นอกนั้นเป็นตลาดหุ่นยนต์เทคโนโลยีสูงและหุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่เรียนรู้เองได้ระดับหนึ่ง

ไอดีซีระบุว่าแม้การลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในขณะนี้ดูเหมือนว่าจะมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น แต่มีตัวชี้ว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังจะทะยานขึ้น ดูได้จากการจดทะเบียนสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ซึ่งมีมากขึ้น โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีสิทธิบัตรใหม่เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว เฉพาะในปีที่แล้วเป็นสิทธิบัตรใหม่จากจีน 35% ซึ่งเป็นหนึ่งเท่าตัวของญี่ปุ่น

นอกจากการจดทะเบียนสิทธิบัตรแล้ว มีรายงานจากบริษัทวิจัย CB Insights ที่ระบุว่า กองทุนร่วมทุน หรือ เวนเจอร์ แคปปิตอล ได้ลงทุนในสตาร์ตอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งคิดเป็นเงิน 587 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 21,132 ล้านบาท) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2557

ข้อมูลจาก Financial Times ยังบอกว่า จนถึงปัจจุบัน ตลาดหุ่นยนต์ส่วนใหญ่ยังเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้งานในโรงงาน ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ตั้งโปรแกรมให้ทำงานล่วงหน้า ไม่สามารถปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่หุ่นยนต์รุ่นใหม่กำลังเกิดขึ้นเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถเรียนรู้และคิดได้ด้วยตัวเองในระดับหนึ่ง

หุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่ราคาไม่แพง ซึ่งจะมีการใช้ในระบบรถไร้คนขับ โดรน ไปจนถึงโคบอต ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกับคนในโรงงานและสามารถปรับตัวในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ เช่น หุ่นยนต์ Tug ที่วิ่งไปมาได้เอง ใช้ช่วยขนของในโรงงานหรือโรงพยาบาล, หรือหุ่นยนต์ Savioke ที่ให้บริการขนของไปที่ห้องในโรงแรม, หรือแม้แต่หุ่นยนต์ Locus Robotics ที่ทำงานในคลังสินค้า, หรือหุ่นยนต์ที่ทำงานให้คำปรึกษาทางด้านการลงทุนแทนนักวิเคราะห์การเงิน ซึ่งกำลังเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีสตาร์ตอัพจากซิลิคอนแวลลีย์รุกเข้าสู่เทคโนโลยีนี้จำนวนมาก

Chris Dixon คือหุ้นส่วนของบริษัท เวนเจอร์ แคปปิตอล ที่มีชื่อว่า Andreessen Horowitz ให้สัมภาษณ์ Financial Times ว่า ความก้าวหน้าในการพัฒนาหุ่นยนต์ขณะนี้อยู่ในส่วนของซอฟต์แวร์ อย่างเช่นการทำให้เครื่องจักรมองเห็นสิ่งรอบตัว ทำให้บริษัทหลายบริษัท อย่างเช่น Dispatch พัฒนาหุ่นยนต์ขนของที่วิ่งบนฟุตบาทจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง จากพื้นฐานความสามารถที่มองเห็นสิ่งรอบ ๆ ตัวได้

นอกจากการมองเห็นแล้ว ซอฟต์แวร์ที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมาก คือ อัลกอริทึมที่ทำให้เครื่องจักรเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก โดย วินนอด โคสลา นักเวนเจอร์ แคปิตอลชื่อดังของโลกที่ลงทุนในสตาร์ตอัพที่ผลิตหุ่นยนต์ใช้การเกษตรและดูแลสุขภาพ กล่าวว่า ‘หุ่นยนต์ในปัจจุบันมีสติปัญญาต่ำมาก แต่เรื่องนี้กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว’

อย่างไรก็ดี สื่อส่วนใหญ่เตือนว่า การพัฒนาหุ่นยนต์จะทำให้คนตกงานจำนวนมากและประเทศจีนเองก็ต้องเจอกับปัญหานี้ เพราะชาวจีน 40% ยังอยู่ในชนบทและไม่มีทักษะพิเศษ จึงต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการใช้แรงงาน ดังนั้นการปฏิวัติอุตสาหกรรมโดยใช้หุ่นยนต์โรงงาน ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีงานทำ

รัฐบาลกลางจีนมองเห็นปัญหานี้เหมือนกันจึงประกาศวิสัยทัศน์ ‘เมดอินไชน่า 2025’ ว่า จีนจะไม่เพียงปรับปรุงประสิทธิภาพทางด้านเทคโนโลยีของโรงงานเท่านั้น แต่จะสนับสนุนการสร้างแบรนด์สินค้าจีนในระดับนานาชาติ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้นและทำให้ชุมชนเมืองขยายตัวขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างงานจำนวนมากจากภาคบริการ

นักวิเคราะห์บางกลุ่มเชื่อว่า วิสัยทัศน์ เมดอินไชน่า 2025 อาจะทำให้จีนต้องใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้น เนื่องจากการทำให้สินค้าจีนได้รับการยอมรับในตลาดนานาชาติ จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มากขึ้น ซึ่งการพัฒนาสินค้านั้นอาจจะต้องพึ่งพาหุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตมากขึ้น

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งกล่าวว่า หากจีนปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยหุ่นยนต์สำเร็จ อาจจะทำให้รูปแบบวัฏจักรโลกาภิวัฒน์ของอุตสาหกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายฐานผลิตไปสู่ประเทศแรงงานถูกเปลี่ยนไปก็ได้