กลยุทธ์ IRPC 56 ฟื้น 57 กำไร 58 ก้าวกระโดด

เผยวิสัยทัศน์กุนซือคนใหม่ IRPC สุกฤตย์ สุรบถโสภณ ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง ผลักดันแผน DELTA ฟันกำไรปี 2557 อุดรูรั่วของรายได้ หลังประเมินแล้วว่า โครงการฟินิกซ์จะเก็บเกี่ยวผลได้ในปี 2558 พร้อมวิสัยทัศน์สู่ผู้นำธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรในปี 2563

ภายหลังความพยายามปรับโครงสร้างบมจ. ไออาร์พีซี เป็นเวลาหลายปี ด้วยโครงการขนาดใหญ่หลายหลากโครงการ ภายใต้ความมุ่งหวังที่จะเห็นกำไรภายหลังโครงการเสร็จสิ้น โดยเฉพาะโครงการฟินิกซ์ ที่วางแผนเป็นโครงการระยะยาวที่คาดว่าจะพลิกฟื้น บมจ.ไออาร์พีซี ให้กลับมาเป็นบริษัททำกำไรให้ได้

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันโครงการฟินิกซ์มีความคืบหน้าไปแล้ว 55% โดยโครงการเพิ่มมูลค่าเพื่อผลิตภัณฑ์สะอาด หรือ UHV (Upstream project for Hygiene &Value added product) ซึ่งใช้เงินลงทุนสูงสุดประมาณ 80% ของโครงการฟีนิกซ์ทั้งหมด มีความคืบหน้าของการก่อสร้าง 48% คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/2558 ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถใช้กำลังการผลิตของหน่วยกลั่นได้เต็มประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มมูลค่าโดยสามารถผลิต Propylene เพิ่มขึ้น 3.2 แสนตัน/ปี และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีได้อีกเป็นอย่างมาก ทำให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้น (GIM) เพิ่มขึ้นประมาณ 2-4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
แม้จะเห็นแสงสว่างสดใสในปี 2558 แต่กลับเป็นภาระหนักสำหรับปี 2557 สำหรับผู้บริหารที่ต้องผลักดันโครงการอื่นๆ ที่สร้างผลกำไร มาอุดช่องว่าง เพื่อให้ผลประกอบการในปี 2557 มีกำไรสมดังความคาดหวังของกลุ่มผู้ถือหุ้น
สุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เผยวิสัยทัศน์ไว้ว่า

ไออาร์พีซีจะขึ้นเป็น “ผู้นำด้านธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรชั้นนำของเอเชียในปี 2563” ด้วยโครงการฟินิกซ์และโครงการ DELTA ที่จะเริ่มในปี 2557

โครงการฟินิกซ์นั้น เป็นโครงการการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตทั้งกระบวนการ เพื่อให้บริษัทมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูงสุด ส่วน DELTA นั้นเป็นโครงการที่ยกระดับกระบวนการผลิต และกระบวนการทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเปลี่ยนกระบวนการเหล่านั้น ให้กับมาเป็นรายได้ที่อุดหนุนกิจการในระหว่างที่รอโครงการฟินิกซ์งอกเงยดอกผลในปี 2558

สุกฤตย์ กล่าวถึงโครงการ DELTA ว่า โครงการ DELTA เป็นการนำแนวคิดและหลักการบริหารเข้ามาขับเคลื่อนเพื่อสร้าง Margin Improvement ให้กับธุรกิจ และนำองค์กรสู่ความเป็นเลิศ โดยการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพทั่วทั้งองค์กร โดยโครงการ DELTA จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1.การปฏิบัติการที่เป็นเลิศ (Operational Excellence) ปรับปรุงประสิทธิภาพการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการปรับปรุงการดำเนินงานด้านการผลิตทั้งระบบ
2.การค้าที่เป็นเลิศ (Commercial Excellence) เพิ่มมูลค่าการผลิตและสร้างรายได้ใหม่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจเดิม รวมทั้งขยายเข้าไปสู่ตลาดผลิตภัณฑ์เกรดพิเศษที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
3.บุคลากรที่เป็นเลิศ (Human Resource Excellence) พัฒนาระบบและประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรในองค์กร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ต่างๆ ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงานด้านการปฏิบัติการที่เป็นเลิศทั่วทั้งองค์กรได้ในที่สุด

“เราคำนวณง่ายๆ ว่า ถ้าบริษัทจะมีกำไรได้นั้น Gross GIM ต้องสูงกว่า 8US$ จึงจะมีกำไร ซึ่งล่าสุดผลการดำเนินงานในวด 9 เดือนที่ผ่านมา เราได้ Gross GIM ที่ 7.1 US$ ผลการดำเนินงานโดยรวมเลยขาดทุน ซึ่งทุกๆ 1US$ ของ Gross GIM จะเปลี่ยนเป็นกำไรประมาณ 2,000 ล้านบาท”

ภายใต้โครงการ DELTA และการปรับปรุงกระบวนการผลิตในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าในปี 2557 ไออาร์พีซีจะมี Gross GIM ที่ประมาณ 8.5US$ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross GIM ในธุรกิจปิโตรเครมี 0.5US$ และ Gross GIM ของธุรกิจปิโตรเลียมอีก 1US$ นอกจากนี้โครงการ DELTA จะเพิ่ม Gross GIM ให้อีกประมาณ 1US$ โดยรวมแล้วคาดว่า ในปี 2557 ไออาร์พีซีจะมี Gross GIM อยู่ที่ 9.5US$ ต่อบาเรล ทำให้ ซึ่งสามารถคำนวณเป็นกำไรได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งสมมุติฐานทั้งหมดนี้ ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลของราคาน้ำมันที่ไม่เกิน 105US$ต่อบาเรล และไม่นับรวม Stock Gain และ Stock Lost

นอกจากนี้ ไออาร์พีซียังมีแผนจะเร่งการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินให้ได้สูงสุด เช่น จากโครงการบ้านค่าย และ EIZ เพื่อช่วยยกระดับการดำเนินธุรกิจขององค์กรให้สามารถทำกำไรสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มขึ้นให้กับองค์กรได้ ในส่วนของโครงการเพื่อต่อยอดการเติบโตบริษัทฯ

สุกฤตย์ เล่าต่อว่า เรายังมีโครงการที่จะร่วมทุนกับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC เพื่อทำโครงการต่อยอดธุรกิจ (post phoenix) จำนวน 5 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 65,000ล้านบาท เราจะกู้เงินจากสถาบันการเงิน 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะมาจากการร่วมทุน โดยจะมาจากไออาร์พีซีประมาณ 15,000 ล้านบาท คาดว่า โครงการต่อยอดธุรกิจจะแล้วเสร็จในปี 2561 ซึ่งจะสามารถสร้างกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.5 – 3 เหรียญต่อบาร์เรล โดยในช่วงต้นปี 2557 บริษัทคงได้ข้อสรุป ในการร่วมทุน 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการผลิตพาราไซลีน (PX; Para-xylene) กำลังการผลิต 1.2 ล้านตันต่อปี โครงการโพลิโพรพิลีน คอมปาวด์ (PPC; Polypropylene Compound) กำลังการผลิต 1.5 แสนตันต่อปี โครงการโพลิออล (Polyol) กำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี และโครงการสไตรีน โมโนเมอร์ (Styrene Monomer) กำลังการผลิต 3.5 แสนตันต่อปี

ส่วนโครงการอะคริลิกแอซิค (AA; Acrylic Acids) กำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี และโครงการซุปเปอร์แอฟซอฟท์แบนท์ โพลิเมอร์ (SAP; Super Absorbent Polymer) กำลังการผลิต 80,000 ตันต่อปี เรากำลังจะหารือกับทาง PTTGC ถามว่า แต่ละโครงการควรมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Return of Investment Capital :ROIC เท่าไร ตัวเลขที่ 14 เปอร์เซ็นต์ ดีที่สุด

การลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ไออาร์พีซีจะใช้เงินลงทุนประมาณ 110,000ล้านบาท โดยเงินลงทุนของบริษัทจะมาจากกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA ที่มีอยู่ประมาณ 70,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 40,000 ล้านบาท เราจะกู้เงินแบงก์หรือออกหุ้นกู้ ส่วนเรื่องหนี้สินที่จะต้องคืนในช่วง 5 ปีข้างหน้า จำนวน 45,000 ล้านบาท ในปี 2557 เราจะมีหนี้ครบกำหนดชำระ 16,000 ล้านบาท ตอนนี้ได้เจรจากับธนาคารในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว

นายสุกฤตย์ เชื่อมั่นว่า ด้วยวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ดังกล่าวจะสามารถขับเคลื่อนให้บริษัทฯ ก้าวสู่วิสัยทัศน์ที่วางไว้ได้ตามเป้าหมายบนพื้นฐานของธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งยังสามารถตอบสนองผู้มีส่วนได้เสียได้ครบถ้วนทุกภาคส่วน


ศรันย์ทัศน์ ตั้งคุณานนท์