“กราฟิกไทย ก้าวไกลสู่สากล”

จากความสำเร็จของภาพยนต์อนิเมชั่น 9ศาสตรา และล่าสุดกับหนังฟร์อมยักษ์จากมาร์เวลที่เพิ่งเข้าฉายไม่กี่วันมานี้กับ The Guardian of the Galaxy vol.2 หากใครได้ดู end credit แล้วล่ะก็เชื่อว่าคงได้เห็นรายชื่อสตาฟคนไทยหลายคนในนั้น จุดเป็นตัวกระตุ้นอย่างดีที่ให้คนไทยหันมามองและอุตสาหกรรมเกมส์และอนิเมชั่นว่าไม่ใช่แค่เรื่องไร้สาระอีกต่อไป

ทว่า แม้คนไทยจะมีฝีมือทางด้านกราฟฟิกไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่อุปสรรคใหญ่ที่ทำให้วงการกราฟฟิกไทยยังออกสู่สากลได้น้อยคือการขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ซึ่งภายในงานสัมมนา “สื่อเต็มเลย 4” จัดขึ้นโดยนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ม.เนชั่น ศูนย์เนชั่นบางนา ภายใต้หัวข้อ “นิเทศศาสตร์มีเรื่องหลากหลาย ช่องทางมากมายสร้างรายได้เต็มเลย” ในช่วงสุดท้ายของการสัมมนา มีการพูดคุยในประเด็น “กราฟิกไทย ก้าวไกลสู่สากล” โดยวิทยากรมากความสามารถ ได้แก่ คุณนิธิพัฒน์ สมสมาน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมั้งค์ สตูดิโอ จำกัด , คุณศักดิ์ศิริ คชพัชรินทร์ กรรมการผู้จัดการ IMAGIMAX STUDIO และ คุณวีรภัทร ชินะนาวิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Riff Animation Studio ซึ่งมีสาระน่าสนใจดังนี้

นิธิพัฒน์พูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันในแวดวงกราฟิกไทยว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมาคงได้เห็นภาพยนตร์ไทย อย่าง เก้าศาสตรา ที่มีความเป็นไทยสูงมาก หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ มีหนังการ์ตูนไทยที่ออกมาฉาย แต่ยังไม่เปรี้ยง จึงทำให้คนไม่ค่อยอยากลงทุน ปกติหนังอนิเมชั่น 1 เรื่อง ใช้ทุนสูงมาก แต่ละเรื่องก็มีต้นทุนที่แตกต่างกันมาก เมื่อรายได้ไม่เข้าเป้าตามที่วางไว้ จึงส่งผลให้คนไม่อยากจะมาลงทุน

 

ขณะที่ผู้บริหารบริษัท เดอะมั้งค์ สตูดิโอ มองว่า หนังไทยอาจติดกับดักอะไรบางอย่าง ที่ทำให้ไปต่างประเทศไม่ได้ แต่ในช่วงก่อนหน้านี้ที่หนังการ์ตูนไทยหายไป ก่อนเก้าศาสตราจะมา ไม่ได้หมายความว่า วงการอนิเมชั่นไทยหายไป แต่เพราะไปเป็นผู้รับจ้างผลิตงานให้กับต่างประเทศค่อนข้างเยอะ จริงๆแล้ว อนิเมชั่นไทยไม่ได้หายไปไหน ยังคงอยู่ ไม่ได้ตาย แล้วยังไปทำงานเบื้องหลังให้กับหนังต่างประเทศหลายเรื่อง

ด้านศักดิ์ศิริมีความเห็นเช่นเดียวกันว่า ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่ชัดเจน ในการสนับสนุนด้านสื่ออนิเมชั่น ภาพยนตร์ หรือ กราฟิก ผิดกับในต่างประเทศจะมีหน่วยงานจากรัฐบาลกลาง ที่เข้ามาดูแลสนับสนุนเรื่องนี้โดยตรง อาทิ เกาหลี มาเลเซีย ที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ทำเนื้อหาและมีไอเดียดีๆ ปัญหาเหล่านี้ทำให้วงการกราฟฟิกไทยค่อนข้างเสียโอกาส สำหรับหน่วยงานที่สนับสนุนในลักษณะที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับในต่างประเทศก็คือ กระทรวงพาณิชย์ ที่ช่วยสนับสนุนด้านการตลาด เช่น ออกค่าบูธให้ เมื่อมีการออกไปขายงานในต่างประเทศ

 

ส่วนวีรภัทร มองว่า ในวงการที่ทำงานด้านสื่อภาพยนตร์ มัลติมีเดีย ก็เป็นสิ่งสำคัญ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกบูมมาก ที่ผ่านมา วงการกราฟิกไทยมีโอกาสทำงานกับต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ติดต่อกันทางอินเทอร์เน็ต ทำให้คนไทยมีโอกาสติดต่อกับต่างประเทศ มีช่องทางที่จะเผยแพร่ผลงานได้มากขึ้น

จะเห็นได้ว่าในปัจุบันวงการกราฟฟิก เกมส์ อนิเมชั่นและคาแรกเตอร์ ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง หากได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน เชื่อว่าในอนาคตเราอาจได้เห็น ชื่อของกราฟฟิกไทยไปปรากฎบนภาพยนต์ระดับโลกอีกหลายเรื่องก็เป็นได้